นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 1.8% ในปี 64 และ 3.9% ในปี 65 โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิม ตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า
"ปัจจัยที่ทำให้เราปรับประมาณการลง มาจากอุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดรอบสาม โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน นักท่องเที่ยวต่างประเทศน้อยกว่าที่คาด จากผลการระบาดที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ" นายทิตนันทิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงบวกได้จากแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้า, แรงกระตุ้นทางการคลังที่มากขึ้น และการส่งออกที่ฟื้นตัว ทำให้ กนง.ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าการส่งออกไทยในปี 64 เป็น 17.1% จากเดิมที่คาดไว้ 10% เมื่อช่วงเดือนมี.ค. เนื่องจากมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดีขึ้น ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น การนำเข้าเร่งตัวขึ้น เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบมาใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้น โดยได้ปรับเพิ่มการนำเข้าปีนี้เป็น 22.7% จากเดิม 15.2%
ขณะที่คาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยในปี 65 จะขยายตัวได้ 4.9% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 6.3% ส่วนการนำเข้า คาดว่าจะขยายตัวได้ 6.6% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 6.8%
พร้อมกันนี้ ยังคาดการณ์ว่าในปีนี้ไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่ราว 1.5 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าจะเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ แต่จะเริ่มกลับมาเห็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 65 เนื่องจากการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัว และมีรายได้จากการท่องเที่ยวเข้ามา
สำหรับแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ปรับลดลงเหลือ 7 แสนคนในปีนี้ จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ 3 ล้านคน ส่วนปี 65 คาดว่าจะอยู่ที่ 10 ล้านคน จากเดิมคาด 21.5 ล้านคน
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำ และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการแข่งกันระหว่างการติดเชื้อโควิดกับการเร่งฉีดวัคซีนให้เพียงพอ จากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
"หากผ่านช่วงระยะสั้นนี้ไปได้ สามารถฉีดวัคซีนและควบคุมการระบาดได้ ก็จะเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น การบริโภคปรับตัวดีขึ้นบ้างจากที่อั้นในช่วงที่ผ่านมา คนจะเริ่มเดินทางเที่ยวในประเทศ นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาได้ เศรษฐกิจก็จะค่อย ๆ ฟื้นตัว ลดความเปราะบางของภาคบริการ และภาคครัวเรือนบางกลุ่มไปได้" เลขานุการ กนง.กล่าว
พร้อมมองว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการด้านการคลังจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นภาครัฐจึงควรเร่งผลักดันมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจ และดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง "โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน คือ การจัดหาและกระจายวัคซีนที่เหมาะสม ให้เพียงพอและทันการณ์โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ 4-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และทุกภาคส่วนต้องเร่งรัดให้มาตรการช่วยเหลือต่างๆ เกิดผลโดยเร็ว เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้" นายทิตนันทิ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี การปรับประมาณการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 1.8% นั้น อยู่บนสมมติฐานที่คาดว่าการระบาดของไวรัสโควิดรอบ 3 จะสามารถควบคุมได้ภายในสิ้นไตรมาส 3 ปีนี้ และคาดว่าประเทศไทยจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงต้นปี 65 และจากการประเมินความเสี่ยงด้านต่ำที่ยังมีอยู่สูง กนง.จึงได้พิจารณากรณีที่การระบาดอาจยืดเยื้อกว่าที่คาด โดยจะมีการเผยแพร่รายละเอียดดังกล่าวนี้ในรายงานนโยบายการเงิน ในวันที่ 7 ก.ค.
นายทิตนันทิ์ ยังกล่าวด้วยว่าการทบทวนเพดานดอกเบี้ย เป็นหนึ่งในหลายเรื่อง ๆ ที่ ธปท.ได้พิจารณาในเรื่องการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับลดเพดานดอกเบี้ยไปบางส่วนแล้ว ล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค.63 ได้ลดดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลง ได้แก่ สินเชื่อบัตรเครดิต จาก 18% เหลือ 16%, สินเชื่อส่วนบุคคล จาก 28% เหลือ 25%, สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จาก 28% เหลือ 24%, สินเชื่อ Nano finance จาก 36% เหลือ 33%
ตลอดจนและมีมาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การโอนย้ายหนี้จากบัตรเครดิตและสินเชื่อ Personal Loan ไปเป็น Term loan โดยขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยลงเป็น 12% และ 22% ตามลำดับ
ทั้งนี้ ธปท. จะประเมินผลของมาตรการต่าง ๆ ในหลายมิติในการช่วยเหลือ โดยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยจะต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกหนี้ และต้นทุนของผู้ประกอบธุรกิจ ภายใต้ภาวะที่ลูกหนี้ยังได้รับความเดือดร้อน และต้องเอื้อให้มีการแข่งขันมากขึ้นในระยะต่อไป ทั้งนี้ ต้องดูแลไม่ให้เกิดการผลักลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงออกไปใช้หนี้นอกระบบ ซึ่งจะยิ่งทำให้ลูกหนี้เดือดร้อนยิ่งขึ้น