นายศุภลักษณ์ พาฬอนุรักษ์ โฆษกกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงาน ให้เป็นศูนย์กลางในการบูรณาการฐานข้อมูลปิโตรเลียมของประเทศไทย มุ่งเน้นขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการวางแผนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และเร่งรัดการจัดหาเชื้อเพลิงเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศไทยเป็นสำคัญ จึงจัดตั้ง "ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารความมั่นคงด้านปิโตรเลียม" ภายใต้แผนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว หรือ "Disruptive Technology" ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (National Energy Information Center : NEIC) ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลและสารสนเทศด้านพลังงานของประเทศที่ตรงความต้องการและเป็นที่เชื่อถือของผู้ใช้ทุกกลุ่มทุกประเด็น
โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเป็นหน่วยงานที่รวบรวมข้อมูล อย่างเป็นระบบ อาทิ ข้อมูลแปลงสัมปทาน ข้อมูลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ข้อมูลถ่านหิน ข้อมูลก๊าซธรรมชาติที่ถูกทำให้เหลว หรือ Liquefied Natural Gas (LNG) ข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รวมถึงข้อมูลด้านพลังงานที่อาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเผาก๊าซทิ้ง (Flaring) การจัดทำรายงาน EIA เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญในการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Decommissioning) เพื่อใช้เป็นแนวทางการจัดทำรายการทรัพย์สินที่รัฐจะรับมอบ (Asset Management) ต่อไป
"ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการบริหารความมั่นคงด้านปิโตรเลียม ที่ตั้งขึ้นมานี้ มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการแหล่งเชื้อเพลิงธรรมชาติแบบบูรณาการ ใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำนโยบาย และวางแผนเกี่ยวกับการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ของคนในประเทศ ทั้งนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เริ่มสร้างฐานข้อมูลโดยใช้หลักสถิติ มาตั้งแต่ปี 2558 รวมทั้งพัฒนาระบบการรายงานข้อมูลแบบกึ่งเรียลไทม์ (Near Real Time) พร้อมกำหนดมาตรฐานการจัดการข้อมูลการบริหารความมั่นคงด้านปิโตรเลียมของประเทศ" นายศุภลักษณ์ กล่าว
ในปี 2564 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ตั้งเป้าว่า ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารความมั่นคงด้านปิโตรเลียมของประเทศ จะสามารถสนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับปิโตรเลียมที่หลากหลายในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทางด้านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Cyber Data Security เพื่อป้องกันข้อมูลที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งจะทำให้การบริหารความมั่นคงด้านปิโตรเลียมของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน สามารถดำเนินการได้ ตามมาตรฐานสากลและมีประสิทธิภาพสูงสุด