นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือน พ.ค.64 โดยการส่งออกมีมูลค่า 23,057 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 41.59% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 11 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน ทองคำ และอาวุธยุทธปัจจัยแล้ว การส่งออกขยายตัว 45.87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สะท้อนการเติบโตที่ฟื้นตัวจากภาคเศรษฐกิจจริง
ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 22,261 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 63.54% ส่งผลให้เดือนพ.ค. เกินดุลการค้า 795 ล้านดอลลาร์
สำหรับภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. - พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 10.78% การนำเข้า มีมูลค่า 107,141 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 21.52% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยเกินดุลการค้า 1,494 ล้านดอลลาร์
"การส่งออกในเดือน พ.ค.ถือว่าเติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี จากเหตุผลสำคัญ 2 ข้อ คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ไม่ว่าจะเป็นตลาดสำคัญทั้ง สหรัฐ จีน ยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงแผนการส่งออกที่นำไปสู่ภาคปฏิบัติจริง ที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบของ กรอ.พาณิชย์ จึงทำให้สามารถแก้ไขปัญหาของภาคส่งออกได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ระบุ
สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ประกอบด้วย 1) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา ผักและผลไม้ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่ม อาหารสัตว์เลี้ยง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ขยายตัวเกือบทุกหมวดสินค้า เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เตาอบไมโครเวฟ ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง กลายเป็นสินค้าที่มีความสำคัญในช่วงที่มีการระบาด
4) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นตัวของภาคการผลิต เช่น เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และ 5) สินค้าคงทนหรือสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับสูง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าได้เป็นอย่างดี
"สินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวสูงถึง 170.3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยเฉพาะตลาดเวียดนามที่เติบโตสูงถึง 922% สืบเนื่องจากการผ่อนคลายกฎระเบียบการนำเข้าของเวียดนาม" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์กล่าว
ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไปกลุ่มตลาดต่างๆ นั้น พบว่า ตลาดหลัก ขยายตัว 39.9% เช่น สหรัฐฯ ขยายตัว 44.9% ญี่ปุ่น ขยายตัว 27.4% สหภาพยุโรป ขยายตัว 54.9% ตลาดจีน ขยายตัว 25.5% ตลาดอาเซียน ขยายตัว 51% ส่วนตลาดรอง ขยายตัว 65.4% ได้แก่ เอเชียใต้ ขยายตัว 184.1% ออสเตรเลีย ขยายตัว 35.1% ตะวันออกกลาง ขยายตัว 39.9% แอฟริกา ขยายตัว 60.2% ลาตินอเมริกา ขยายตัว 129.9% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัว 58.2%
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การส่งออกของไทยในระยะต่อไป คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น สะท้อนจาก 1. การขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 5 ในเกือบทุกหมวดสินค้า 2. ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน 3. การกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในแต่ละประเทศ ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการบริโภค และส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าของไทย
โดยในปีนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 4% ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 10.78% แล้วก็ตาม ซึ่งคาดว่าแนวโน้มการส่งออกหลังจากนี้ไปจะยังสามารถทำหน้าที่เป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยได้ ยกเว้นแต่จะมีวิกฤติการณ์อันคาดไม่ถึงเข้ามากระทบต่อไทยและทั่วโลก
ส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 17% นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ปรับเป้าหมายไปจากเดิมที่ตั้งไว้ 4% เพื่อป้องกันการสับสน แต่จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จะพยายามทำให้ได้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องมีเพดาน ซึ่งจะเป็นการทำอย่างต่อเนื่องในเชิงรุก ส่วนโอกาสที่ทั้งปีนี้การส่งออกจะเติบโตในระดับ 2 หลักหรือไม่นั้น กระทรวงพาณิชย์จะพยายามให้ดีที่สุด แตทั้งนี้ก็จะเห็นได้แล้วว่าในช่วง 5 เดือนแรก การส่งออกก็เติบโตอยู่ในระดับ 2 หลักแล้ว
อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์มีแผนงานที่จะเดินหน้าต่อไป ประกอบด้วย 1.เร่งรัดการเปิดตลาดใหม่ให้มีผลทางภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งตลาดตะวันออกกลาง ตลาดกลุ่มประเทศรัสเซีย ตลาดกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ตลาดกลุ่มประเทศแอฟริกา
2. รุกการค้าชายแดนและการค้าข้ามแดนต่อเนื่อง โดยจะเร่งเปิดด่านซึ่งมีอยู่ 97 ด่านที่ปัจจุบันเปิดได้แค่ 45 ด่าน ให้เปิดได้เพิ่มขึ้น โดยเป้าหมายระยะสั้นจะเร่งเปิดเพิ่มให้ได้อย่างน้อยอีก 11 ด่าน ซึ่ง วันที่ 9-11 ก.ค.นี้ จะเดินทางไปดูด่านบริเวณชายแดนลาว ซึ่งถือเป็นด่านสำคัญที่จะต่อไปเวียดนามและจีน เช่น ด่านปากแซง นาตาล ท่าเทียบเรือมุกดาหาร ท่าเทียบเรือนครพนม และท่าเทียบเรือหนองคาย เป็นต้น
3. เร่งส่งเสริมการส่งออก และการเจรจาการค้า รวมทั้งการทำสัญญาส่งสินค้าออกด้วยระบบออนไลน์ รวมทั้งเร่งดำเนินการผสมผสานการทำสัญญาสินค้าส่งออกในรูปแบบไฮบริด
4. เร่งรัดดำเนินการ MINI-FTA ทั้งกับไห่หนาน หรือมณฑลไหหลำของจีน รัฐเตลังคานา ของอินเดีย เมืองคยองกี ของเกาหลี หรือโคฟุของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้สัญญาณล่าสุดอาจลงนามได้ในช่วงเดือนสิงหาคม
5. เร่งสร้างแม่ทัพการค้าและแม่ทัพการส่งออกรุ่นใหม่ของไทย เพื่อเป็นอนาคตสำหรับการนำเงินเข้าประเทศต่อไปในเรื่องโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ซึ่งปีนี้มั่นใจว่าสร้างได้ครบ 12,000 คนทั่วประเทศ
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีการติดเชื้อโควิดของคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะโรงงาน ไม่ใช่ภาพรวม ซึ่งในภาพรวมแล้วสินค้าอาหารส่งออกของไทยยังได้รับความเชื่อมั่นจากตลาดโลก โดยประเทศผู้นำเข้ายังมั่นใจในรสชาติ คุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้าอาหารไทย
"ภาพรวมไม่ได้มีปัญหา อาหารไทยยังได้รับความเชื่อมั่นในตลาดโลก ทั้งรสชาติ คุณภาพ และความปลอดภัยจากโควิด แต่หากโรงงานใดมีปัญหาจากผู้นำเข้า ก็ให้มาขอเอกสารใบรับรองได้ ซึ่งออกโดย 3 กระทรวง คือ กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ระบุ