นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในเดือนมกราคม - เมษายน 2564 ว่า มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 24,286.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 74.17% แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 1,204.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยภาพรวมการใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 21.44%
การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในเดือนมกราคม - เมษายน 2564 มีมูลค่า 23,082.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 21.37% มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 74.91% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อาเซียน (มูลค่า 8,125.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 2) จีน (มูลค่า 7,110.54 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 3) ออสเตรเลีย (มูลค่า 2,836.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) 4) ญี่ปุ่น (มูลค่า 2,139.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และ 5) อินเดีย (มูลค่า 1,582.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ไทย-เปรู (100%) 2) ไทย-ชิลี (90.22%) 3) อาเซียน-จีน Z89.49%) 4) ไทย-ญี่ปุ่น (75.36%) และ 5) อาเซียน-เกาหลี (70.41%)
ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในเดือนมกราคม - เมษายน 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,204.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 22.85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 62.30%
ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ มากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,062.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 29.98% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 64.27% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 88.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -12.47% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 42.82% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 47.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -14.79% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 74.47% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 5.25 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง -5.23% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 64.42%
สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอมชนิดที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารหรือเครื่องดื่ม ข้าวโพดหวาน
นายกีรติ กล่าวว่า ภาพรวมการใช้สิทธิฯ 4 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า หลายตลาดกลับมาฟื้นตัวหลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 ได้แก่ อาเซียน (เพิ่มขึ้น 17.09%) เกาหลี (เพิ่มขึ้น 17.60%) ญี่ปุ่น (เพิ่มขึ้น 16.56%) ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้น 33.76%) และนิวซีแลนด์ (เพิ่มขึ้น 13.42%)
นอกจากนี้ การส่งออกไปบางตลาดสำคัญยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน อาทิ อาเซียน-จีน (เพิ่มขึ้น 25.07%) และอาเซียน-อินเดีย (เพิ่มขึ้น 18.81%) ซึ่งการขยายตัวเหล่านี้เกิดจากทั้งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และมาตรการหลายๆ มาตรการ ในการผลักดันการส่งออก เช่น การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการใช้สิทธิพิเศษทางการค้าทั้งภายใต้ FTA และ GSP การเพิ่มช่องทางการตลาด การอำนวยความสะดวกในการออกเอกสาร ซึ่งเป็นมาตรการตามแนวทางของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์
สำหรับสินค้าที่มีการใช้สิทธิฯ ขยายตัว และมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ภายใต้ FTA อาทิ ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) มันสำปะหลัง (อาเซียน-จีน) สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง (อาเซียน-จีน) รถยนต์ขนส่งของที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก ไม่เกิน 5 ตัน (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ผลไม้สด (อาเซียน) แผ่นไม้อัด พาร์ติเคิลบอร์ด (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี, ไทย-ชิลี) กุ้ง (อาเซียน-เกาหลี, อาเซียน-ญี่ปุ่น)
รถยนต์ที่มีความจุกระบอกสูบ 1,000-1,500 ลบ.ซม. (ไทย-ชิลี) ถุงมือ (ไทย-ชิลี) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำด้วยเงิน (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ลวดทองแดง (อาเซียน-อินเดีย) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-อินเดีย) พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่นๆ ทำด้วยวัตถุทอประดิษฐ์ (อาเซียน-ญี่ปุ่น) เครื่องแต่งกายของสตรีหรือเด็กหญิงถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ถุงมือใช้ทางศัลยกรรม (ไทย-เปรู) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย-เปรู) เป็นต้น