น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกพ.ร.กให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.ฟื้นฟู) มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกขนาดและในทุกประเภทธุรกิจให้เข้าถึงสภาพคล่อง โดยผู้กู้จะได้รับการคิดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินไม่เกิน 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และในช่วง 5 ปีแรกอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยต้องไม่เกิน 5% ต่อปี และเพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นในการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ของสถาบันการเงิน รัฐบาลได้มอบหมายให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ทำหน้าที่ผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะค้ำประกันให้กับผู้ได้รับสินเชื่อฟื้นฟูทุกรายเต็มจำนวน ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการขนาดย่อย (ไมโคร ลูกจ้างไม่เกิน 5 คน) เอสเอ็มอี ขนาดใหญ่ และบุคคลธรรมดา เป็นระยะเวลาสูงสุด 10 ปี
ภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า มียอดสินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติไปแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท เป็นผู้ประกอบการจำนวน 1.6 หมื่นราย ซึ่งสถาบันการเงินจะทยอยส่งให้ บสย. ค้ำประกันทุกราย ทั้งนี้ ณ วันที่ 23 มิ.ย. 64 บสย.ทำการค้ำประกันไปแล้ว จำนวน 1.1 หมื่นราย แยกเป็น ผู้ประกอบการไมโคร 5.5 พันราย ขนาดเล็กและกลาง 4.8 พันราย ขนาดใหญ่ 700 กว่าราย และมากไปกว่าการค้ำประกัน บสย. ยังเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินด้วยซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาทางการเงิน มีทางออกในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทำแผนธุรกิจประกอบการขอกู้จากธนาคารอย่างมีความน่าเชื่อถือ
ขณะเดียวกัน บสย. ยังเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ "จับคู่กู้เงิน" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคารทั่วประเทศ ให้เข้าถึงมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินจากสถาบันการเงิน ณ วันที่ 22 มิ.ย.64 นี้ มีผู้มาติดต่อขอสินเชื่อแล้วกว่า 11,185 ราย วงเงินขอสินเชื่อรวม 2,440 ล้านบาท เมื่อได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงินแล้ว บสย. จะเข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชี่อต่อไป ทั้งนี้ โครงการ "จับคู่กู้เงิน" ยังประกาศขยายระยะเวลาถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 นี้
"ที่ผ่านมาพบว่ามาตรการสินเชื่อซอฟท์โลนเดิม มีปัญหาตรงที่ผู้ประกอบการบางส่วนยังเข้าไม่ถึง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไข ครม.จึงได้ออกพ.ร.ก.มาตรการฟื้นฟูฯฉบับใหม่ ที่มีการแก้ไขข้อจำกัดของ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเดิมในหลายประเด็น และล่าสุด นายกฯได้เชิญภาคเอกชนประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตส่าหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมหารือเพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรค ร่วมกันกำหนดแนวทางให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสภาพคล่องมากขึ้น จะได้ประคองธุรกิจและกลับมาฟื้นตัวได้หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย" น.ส.รัชดา กล่าว