คมนาคม เร่งประมูลงานโยธารถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นรวม 6.7 หมื่นลบ.ในปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 28, 2021 11:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทาง ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เร่งรัดการประมูลก่อสร้างงานโยธาก่อน ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อนุมัติให้ รฟท.ดำเนินโครงการสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง วงเงินกว่า 6.7 หมื่นล้านบาท เพื่อให้รวดเร็วและสอดคล้องกับการเปิดเดินรถไฟสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และ บางซื่อ-ตลิ่งชัน

ส่วนรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) สายสีแดง ซึ่ง รฟท.อยู่ระหว่างศึกษานั้น จะเป็นการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในส่วนของงานเดินรถ และซ่อมบำรุง (Operation & Maintenance : O&M ) ทั้งช่วงแรกและส่วนต่อขยาย ไม่รวมงานโยธา

สำหรับเงินลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายทั้ง 4 เส้นทางนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สามารถใช้เงินกู้ หรือ การระดมทุนเงินทุนจากกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) อยู่ระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ รฟท.ไปดำเนินการก่อสร้างงานโยธาก่อน เพราะเกรงว่าหากนำงานโยธาผูกไว้กับ O&M อาจทำให้โครงการยิ่งล่าช้า โดยคาดว่าหาก รฟท.แยกงานโยธามาเปิดประมูลได้ภายในปีนี้ จะก่อสร้างแล้วเสร็จได้ภายในปี 68 ซึ่งจะสามารถเปิดเดินรถสีแดงส่วนต่อขยายได้เลย เพราะรถไฟสายสีแดงช่วงแรกและส่วนต่อขยายเป็นระบบเดียวกันทั้งหมด ดังนั้น ระหว่างรอ PPP คัดเลือกเอกชนเข้ามารับงาน O&M เดินรถตลอดสาย ดว่าเป็นช่วงปี 69 จะทำให้ รฟท.สามารถให้บริการส่วนขยายไปได้ไปก่อน ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์มากกว่า

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า รถไฟสายสีแดงช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม.กรอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท, ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. กรอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท และ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. กรอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท โดย ครม.อนุมัติให้ดำเนินการไว้ตั้งแต่ปี 62

ส่วนต่อขยายรถไฟสีแดง (Missing Link ) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท ครม.อนุมัติตั้งแต่ปี 59 แต่เนื่องจากมีการปรับรูปแบบการก่อสร้างช่วงสถานีจิตรลดา-พญาไท ที่จะต้องใช้พื้นที่ก่อสร้างร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ซึ่งปัจจุบันคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การเร่งรัดก่อสร้างเพื่อให้มีการเปิดหน้าดินก่อสร้างครั้งเดียวลดผลกระทบระหว่างก่อสร้าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ