นายวิชิต ประกอบโกศล รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวในงานเสวนา "ฟ้าหลังฝน มิติใหม่ท่องเที่ยวไทย" ว่า จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วัน ทำให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะในภาคท่องเที่ยว ทั้งธุรกิจสายการบิน และโรงแรมมีความหวัง และเริ่มเดินหน้าได้ ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนมีความพร้อมมาปีกว่าแล้ว แต่ยังมีสิ่งเร่งด่วนที่ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวต้องการ คือ เงินทุนเพื่อมาปรับปรุงธุรกิจ เตรียมความพร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยว และการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย 70% ถ้าทำได้ก็มั่นใจว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเร็ว ๆ นี้
โดยคาดว่าหากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย จะทำให้ยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และเอเชีย ที่เป็นประเทศกลุ่มเป้าหมายของไทย เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมการท่องเที่ยวของไทยในปี 2565 กลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 25 ล้านคน คิดเป็น 60% สร้างรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านล้านบาท และภาคการท่องเที่ยว น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายใน 2 ปี
นอกจากนี้ ในระยะยาวรัฐบาลต้องมีการตั้งกฎเกณฑ์ และประกาศนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับเป้าหมายนักท่องเที่ยว เป้าหมายการเพิ่มรายได้ในภาคการท่องเที่ยว การกระจายการท่องเที่ยวระยะสั้น ระยะยาวอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนเตรียมความพร้อมในการลงทุนอย่างถูกต้อง
นายวิโรจน์ นรารักษ์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวว่า โมเดลภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถือเป็นการดำเนินการของภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคการท่องเที่ยวว่าประเทศไทยมีความปลอดภัย ส่วนในระยะถัดไป อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะต้องมีการปรับตัว ปรับรูปแบบการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย ยกระดับด้านสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสูง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านสุขภาพ จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคการท่องเที่ยวไทย
ด้าน น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้และปีหน้าลง เนื่องจากมองว่าการระบาดของโควิด-19 ยังคงแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มุมมองของการเปิดประเทศยังต้องติดตามว่าจะทำได้เมื่อไร และต่างประเทศจะเปิดให้เดินทางได้เมื่อไร ทั้งหมดขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันหมู่
"ฟ้าหลังฝนไม่แน่ใจว่าจะมาเมื่อไร แต่เราก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ในอนาคตภาคการท่องเที่ยวหากไม่มีการปรับตัวภายใต้การแข่งขันที่สูงขึ้น ทั้งในแง่สถานที่ท่องเที่ยว ความสะดวกกาย ความสบายใจ ความปลอดภัยจะเป็นประเด็นสำคัญ ทั้งหมดเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถตอบโจทย์ได้ โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้รากหญ้า และกลุ่มที่ไม่ใกล้ดิจิทัล ได้เข้าใกล้ดิจิทัลมากขึ้น ดังนั้นต้องมาดูว่าจะขยายผลตรงนี้อย่างไร จนนำไปสู่ภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้การท่องเที่ยวดีขึ้น สิ่งที่เรียนรู้จากวิกฤติครั้งนี้ ภาครัฐอาจต้องเน้นเรื่องกรอบนโยบาย แผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศที่ชัดเจน อาจต้องมีการตั้งคณะทำงาน คณะกรรมการขึ้นมาเพื่อผลักด้านให้ภาคการท่องเที่ยวไทยก้าวไปในระยะต่อไปที่มีความท้าทายรออยู่" น.ส.ชญาวดี กล่าว