นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำ (RSI) เดือนมิถุนายน 2564 พบว่า ดัชนี RSI เดือนมิถุนายน 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค สะท้อนถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลายจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 62.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและการจ้างงานเนื่องจากเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก และมีนโยบายความช่วยเหลือภาคการเกษตรจากภาครัฐ อาทิ มาตรการประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น ในส่วนของการจ้างงานคาดว่าสภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้น ประกอบกับการมีมาตรการส่งเสริมการจ้างงานของภาครัฐ
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 61.1 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกันโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูก ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะคลี่คลายจากการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมมากขึ้น
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 59.8 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีแนวโน้มคลี่คลายลงจากการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ ประกอบกับการได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 57.9 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร เนื่องจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น จากสภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่เริ่มฟื้นตัว หลังจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรค
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 56.9 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสำหรับภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นจากมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะก่อให้เกิดความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 48.1 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการบริการและการลงทุน เนื่องจากมีความไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
- ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 47.2 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอลง เนื่องจากยังมีความกังวลจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่นกัน อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นในอนาคตของภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น