(เพิ่มเติม) ครม.เห็นชอบโครงการนำร่องพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางรถไฟ 2 เส้นทาง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 22, 2007 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้เห็นชอบให้สำนักงานโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งสินค้าและบริการ (Logistics)  ทางรถไฟ  รวม  2 เส้นทาง  คือ  เส้นทางระหว่างจังหวัดขอนแก่นจังหวัดนครราชสีมากับท่าเรือแหลมฉบัง และ เส้นทางระหว่างจากย่านกองเก็บตู้สินค้า  (Container Depot : ICD) ที่ลาดกระบังและท่าเรือแหลมฉบัง
ทั้งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบในการสนับสนุนให้มีการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟ โดยมีการรวบรวมและกระจายสินค้าที่ย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) ในภูมิภาค และให้การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกเป็นตัวสนับสนุน ในลักษณะการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) อย่างเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ ช่วยลดเวลาและต้นทุนในการขนส่งสินค้าส่งออกไปยังท่าเรือแหลมฉบัง
ในเบื้องต้นจะเลือกสินค้าและเส้นทางการขนส่งที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการปรับรูปแบบการขนส่งจากเดิมที่ใช้รถบรรทุกเป็นหลักมาใช้การขนส่งทางรถไฟ (Modal Shift) เพื่อการส่งออกให้มากขึ้น คือ ข้าวสาร แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ใน 2 เส้นทาง คือ โครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งข้าวสาร แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ทางรถไฟ ระหว่าง จ. ขอนแก่น — จ. นครราชสีมา — ท่าเรือแหลมฉบัง
และ โครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งข้าวสารทางรถไฟระหว่าง จ.นครสวรรค์ — สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ICD) ที่ลาดกระบัง — ท่าเรือแหลมฉบัง
การดำเนินงานโครงการนำร่องการพัฒนาระบบบริหารจัดการขนส่งสินค้าทางรถไฟในเส้นทางขอนแก่น — นครราชสีมา — ท่าเรือแหลมฉบัง และเส้นทางย่านกองเก็บตู้สินค้า (CY) ท่าข้าวกำนันทรง จ.นครสวรรค์ — สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง(ICD)ที่ลาดกระบัง— ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีความต้องการของการขนส่งทางรถไฟที่สูงที่สุด โดยจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งข้าวสาร แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของประเทศ
นอกจากนั้นยังจะทำให้เจ้าของสินค้าและผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) จากการขนส่งทางรถบรรทุกมาใช้การขนส่งทางรถไฟมากขึ้น เนื่องจากประหยัด สะดวก และปลอดภัย ซึ่งจะทำให้ลดปัญหาจราจรและลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงถนนอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการจัดตั้งโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวบริเวณ จ.นครสวรรค์ นั้น เป็นการเพิ่มมูลค่าของข้าวสาร สามารถสร้างการจ้างงานและเพิ่มรายได้ให้กับภาคการเกษตร อุตสาหกรรมและการบริการในท้องถิ่นโดยตรง รวมทั้งจะส่งผลให้จังหวัดนครสวรรค์เป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และศูนย์กลางส่งออกข้าวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่างอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ