เอกชนมองเศรษฐกิจไทยปีหน้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว มองส่งออกปีหน้าโตได้เฉลี่ย 8% และดุลบัญชีเดินสะพัดมีโอกาสขาดดุล ขณะที่บาทมีโอกาสอ่อนแตะ 36 บาท/ดอลลาร์ ตลาดหุ้นแม้จะทำนิวไฮที่ 900 จุด แต่โอกาสอยู่ในระดับนี้ยาก เพราะหวั่นอาจเกิดมีซับไพร์มรอบ 2 ในอีก 6 เดือนข้างหน้า แนะรัฐบาลใหม่เริ่มใช้นโยบายการคลังเร็วขึ้น ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% และเร่งปล่อยสินเชื่อกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน
นางฮุย เช็ง ไท หัวหน้างานวิจัยเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเอเชีย 2551 ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจนถึงปีหน้า จากผลพวงของปัญหาภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อในตลาดซับไพร์ม และปัญหาว่างงาน คาดว่าจะทำให้จีดีพีของสหรัฐในปี 51 ขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐในการแก้ไขปัญหาซับไพร์มจะไม่เพียงพอ เพราะคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 ดือนในการคลี่คลายปัญหาทั้งหมด และจะเกิดผลกระทบจากซับไพร์มรอบสองในอีก 6 เดือนข้างหน้า เนื่องจากขณะนี้หนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่สูงนัก และมีโอกาสเร่งตัวขึ้นได้อีก
การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชีย ขึ้นกับว่าประเทศใดมีการส่งออกไปสหรัฐมากน้อยเพียงใด โดยประเมินว่าฮ่องกง มาเลเซีย และไต้หวันจะกระทบมากที่สุด ขณะที่ไทยแม้จะมการส่งออกไปสหรัฐไม่เท่าประเทศเหล่านี้ แต่อุปสงค์ในประเทศต่ำ ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบ ปัจจัยอีกประการหนึ่งคือการเร่งตัวของเงิเนฟ้อในเอเชีย จากหลายปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ
ด้านน.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนส่งออกไปยังสหรัฐเพียง 15% เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมด แต่มองข้ามไม่ได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อการส่งออกไปยังประเทศอื่น(Re-export) คาดว่าน่าจะกระทบราว 35% ของมูลค่าส่งออก เพราะ 3-4 ปีที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป โดยเฉพาะหลังวิกฤตเศรษฐกิจปี 40
ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าจะโตเหลือ 1.5-2% จาก 3% ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เพราะการลงทุนและการบริโภคไม่ฟื้น ซึ่งจะมีผลต่อดุลบัญชีเดินสะพัดทำให้ขาดดุลประมาณ 2.5 พันล้านเหรียญ สรอ. เทียบกับเกินดุล ในปีนี้
"ครึ่งหลังปีนี้ การส่งออกโต 18% น่าจะเห็นได้ยาก และยากขึ้นในปีหน้า มองว่าเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ได้ที่ 10-12% และจะเหลือ 8% ในปีหน้า" น.ส.อุสรา กล่าวในหัวข้อสัมมนา" แนวโน้มเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยปี 2551"
น.ส.อุสรา กล่าวต่อว่า ขณะที่ค่าเงินบาทนั้นผ่านจุดแข็งสุดแล้วเมื่อเดือนส.ค.ที่ระดับ 33.20 บาท/ดอลลาร์ แต่มองปลายปีจะอ่อนลงที่ 35 บาท/ดอลลาร์ และแตะ 36 บาท/ดอลลาร์ในปีหน้า ส่วนตลาดหุ้นไทยตอนนี้ถือว่าทำนิวไฮขึ้นแตะ 900 จุดแล้ว แต่มองว่าการรักษาในระดับนี้ต่อไปเป็นเรื่องยาก เพราะเรื่องปัญหาซับไพร์มทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และยังหวั่นจะเกิดรอบ 2 ใน 6 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ดี มองว่าตลาดหุ้นไทยมีอุปสรรค เพราะมีกฎเกณฑ์มากมาย และการที่บาทแข็งขึ้นมา 25% ใน 2 ปีก็มีผลต่อตลาดหุ้นด้วย การฟื้นตัวของการบริโภคเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการชดเชยต่อการส่งออกซึ่งชะลอในปีนี้
น.ส.อุสรา กล่าวว่า รัฐบาลใหม่คงต้องเริ่มใช้นโยบายการคลังเร็วขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจคต์ แต่ทั้งนี้ยังเป็นห่วงว่าการลงทุนภาคเอกชนจะฟื้นตัวได้หรือไม่ในช่วงต่อจากนี้จากที่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ โดยต้นทุนทางการเงินปัจจุบันยังสูง ขณะที่ Yield Curve ของการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลยังต่ำตามดอกเบี้ยอาร์/พี แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาร์/พีมากๆ ในระยะต่อไปมีน้อยลง อีกทั้งมองว่าจะมีการลดอีกครั้งในวันที่ 10 ต.ค.นี้ และเป็นการหมดวัฏจักรรอบนี้
"แบงก์ชาติปรับอาร์/พีมาแล้ว 5 ครั้ง หรือลดลง 1.75% มาอยู่ที่ 3.25 ในปัจจุบัน แต่การผ่องถ่ายไปยังดอกเบี้ยแบงก์ยังไม่มีประสิทธิภาพ และมองว่าการปล่อยสินเชื่อทั้งระบบปีนี้จะโตเหลือ 2% ในปีนี้จาก 8% ในปีก่อน" น.ส.อุสรา กล่าว
ขณะที่ความต้องการการลงทุนของภาคเอกชนมีมากขึ้นหลังจากอัตราการกำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีความต้องการเงินทุนเพิ่ม ขณะเดียวกันตลาดตราสารหนี้ไม่เอื้อต่อการระดมทุนมากนัก หากไม่ยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เพื่อเปิดทางให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในภาวะที่รัฐบาลและเอกชน ต้องการเงินลงทุนก็จะเกิดการแย่งเงินกู้ในประเทศ ทำให้สภาพคล่องลดลง
ดังนั้นความจำเป็นในอนาคต คือ การเร่งปล่อยสินเชื่อ และควรมีการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% สำหรับเงินต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ในระยะต่อไปดุลบัญชีเดินสะพัดจะเปลี่ยนจากเกินดุลมาเป็นขาดดุลแล้ว
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--