นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือกลุ่มแรงงานในกิจการที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย กิจการก่อสร้าง กิจการที่พักแรม กิจการร้านอาหาร กิจการศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ รวมถึงกิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยมีระยะเวลาช่วยเหลือ 1 เดือน
ทั้งนี้ รัฐบาลจะให้ความช่วยเหลือลูกจ้างสัญชาติไทยที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมในอัตรา 2,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากการให้ความช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานอัตรา 50% ของค่าจ้างรายวัน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ตลอดระยะเวลาที่มีคำสั่งปิดสถานที่
กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างให้ลงทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมภายในเดือน ก.ค.64 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้างสูงสุดไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน ส่วนลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 2,000 บาทต่อคน
กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" ผ่านโครงการคนละครึ่งให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ก.ค.64 โดยผู้ประกอบการจะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท
สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทเช่นเดียวกัน
นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลยังเดินหน้ามาตรการต่างๆตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ ทั้งโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 และโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้
นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานประสานความร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย สมาคมภัตรคารไทยและร้านอาหาร ในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการใช้บริการอาหารจากภัตรคาร ร้านอาหาร และร้านอาหารรายย่อย เพื่อดูแลคนงานในแคมป์ก่อสร้าง
นายอนุชา ยังเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ ผับบาร์ และสถานบันเทิง รวมถึงผู้ประกอบอาชีพศิลปินอิสระที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดสถานที่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้หามาตรการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด