นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ทบทวนมติ ครม.เดิมเพื่อช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ ประกอบด้วย
1.โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) จะขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิ.ย.64 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค.64
2.ปรับปรุงโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โดยธนาคารออมสิน ได้แก่ ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี, ขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และ ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิ.ย.64 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค.64
3. ปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs "มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว" โดยธนาคารออมสิน ได้แก่
- ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการ ฯ ครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ตามที่ธนาคารออมสินเห็นสมควร
- ปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562 หรือปี 2563 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ SMEs
- ปรับปรุงการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำ หรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น เป็นไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่องตามที่ธนาคารออกสินกำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs
- ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อจากเดิมวันที่ 30 มิ.ย.64 ออกไปเป็นวันที่ 30 ธ.ค.64
ทั้งนี้ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจากการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ ไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย