นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 51 จะเติบโตมากขึ้นจากปี 50 แม้ว่าปัญหาซับไพร์มในตลาดสหรัฐจะยังไม่หมดไป เนื่องจากปัจจัยภายในประเทศจะฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ธปท.เชื่อว่าการบริโภคและการลงทุนในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนจะฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการจะเริ่มมีการลงทุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะโครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด และโครงการรถไฟฟ้า ซึ่งได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไปแล้วและคาดว่าจะมีการลงทุนในปีหน้า เมื่อมีการลงทุนก็จะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบ
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น ก็จะทำให้การลงทุนเอกชนขยับสูงตามขึ้นมา โดยเฉพาะเมื่ออัตราการใช้กำลังการผลิตในขณะนี้สูงถึง 75-76% ทำให้มีความจำเป็นต้องเร่งขยายกำลังการผลิต ซึ่งจะมีการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ แม้ว่าเศรษฐกิจที่ถดถอยลงของสหรัฐจะทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าก็ตาม แต่ก็คงไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทยมากนัก
ปัจจุบัน ปัจจัยภายในประเทศยังไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงเป็นพิเศษ การเลือกตั้งก็มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเร่งการใช้จ่ายของภาคเอกชนให้ดีขึ้นด้วย
สำหรับเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา 8 เดือนแรกของปีจะมีอยู่เพียง 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มี 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบาง แต่เชื่อว่าแนวโน้มจะดีขึ้นจากตัวเลขการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) อีกทั้งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าจะมีเงินเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์บางแห่งเข้ามาด้วย ซึ่งจะต้องติดตามต่อไป
ส่วนค่าเงินบาทขณะนี้ยังเกาะกลุ่มไปกับค่าเงินในภูมิภาค ซึ่งช่วงที่เกิดปัญหาซับไพร์มค่าเงินบาทค่อนข้างนิ่ง ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยพบว่าค่าเงินบาทผันผวนน้อยลง เนื่องจากเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาไม่มากเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ที่มีขนาดของตลาดใหญ่กว่า มีสภาพคล่องสูง ดังนั้นเมื่อนักลงทุนต่างชาติมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องก็จะเลือกถอนเงินจากตลาดเหล่านี้ ขณะที่ตลาดไทยขยายตัวต่ำและมีขนาดเล็ก นักลงทุนต่างชาติจึงไม่ได้สนใจดึงเม็ดเงินในไทยออกไปใช้มากนัก
นางธาริษา ยังกล่าวถึงการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ว่า ในปีนี้ตลาดตราสารหนี้คงไม่ได้ขยายตัวมากนัก เนื่องจากทางการใช้มาตรการสำรอง 30% ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ดอกเบี้ยในประเทศก็ลดลงมามากแล้ว ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ได้ผลตอบแทนไม่มากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ที่ได้กำไรทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยน เงินลงทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาในตลาดตราสารหนี้จึงลดลงมาก กลับกลายเป็นมีเงินเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ถือว่ามากจนเกินไป
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--