กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.00-32.40 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.19 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 31.83-32.28 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 14 เดือน
ในช่วงครึ่งปีแรก เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในกลุ่ม ด้วยอัตรา 6.6% เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงินหลักในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงสดใสต่อเนื่องหนุนดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ขณะที่นักลงทุนกังวลกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสสายพันธุ์เดลต้าในหลายภูมิภาคของโลก กดดันสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ให้อ่อนค่าลง ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 9,564 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 11,822 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ข้อมูลการจ้างงานเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่น แต่ไม่ถึงกับร้อนแรงเกินไปในระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องรีบทวนเข็มนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ บรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในภาพรวมจึงสามารถประคองตัวได้ค่อนข้างดี
สัปดาห์นี้ตลาดจะให้ความสนใจกับการเปิดเผยรายงานการประชุมเมื่อวันที่ 15-16 มิถุนายนของเฟด รวมถึงดัชนีภาคบริการของสหรัฐฯ เพื่อประเมินจังหวะเวลาที่เฟดจะเริ่มปรับลดขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์ แม้กรุงศรีมองว่า การวิ่งขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ในระยะนี้ได้สะท้อนว่าตลาดปรับคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายของเฟดไปมากพอสมควรแล้ว แต่สถานการณ์โควิด-19 นอกสหรัฐฯ ที่ขยายวงมากขึ้น อาจจำกัดการปรับฐานลงของค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มผันผวนสูง
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะติดตามข้อมูลเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน สถานการณ์การแพร่ระบาดที่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ รวมถึงทิศทางการจัดหาและกระจายวัคซีน ทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่าบัญชีเดินสะพัดเดือนพฤษภาคมขาดดุล 2.6 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการขาดดุลเป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน เครื่องชี้วัดการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวจากเดือนเมษายน สะท้อนผลกระทบจากการแพร่ระบาดระลอกสาม แต่การใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกช่วยพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้บ้าง
ส่วนผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ขณะที่สภาพคล่องในระบบมีสูงพอ โดยคาดว่าภาคการท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี ก่อนจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด อนึ่ง กรุงศรีคาดว่าความยืดเยื้อของสถานการณ์และความไม่แน่นอนในการจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ จะฉุดรั้งความเชื่อมั่นอย่างมีนัยสำคัญในระยะนี้