นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า บริษัท Fitch Ratings (Fitch) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สะท้อนความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ได้รายงานไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนั้น Fitch ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะ ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศไทย ณ เดือนเมษายน 2564 มีอายุเฉลี่ย (Average Time to Maturity: ATM) ค่อนข้างยาว คือ 9.5 ปี และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสกุลเงินบาทมากกว่า 98% ซึ่งอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (BBB peers) เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ โปรตุเกส ฮังการี บัลกาเรีย รัสเซีย และคาซัคสถาน เป็นต้น ที่มีค่ากลางของหนี้สกุลท้องถิ่นอยู่ที่ 68.8%
นอกจากนั้น สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทย ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52.7% ต่อ GDP จากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการมีกฎหมายการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันที่ 59.4%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2/64 Fitch เชื่อมั่นว่า น่าจะเริ่มฟื้นตัว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.2% เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัว และรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น จะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง
ทั้งนี้ การจัดอันดับของ Fitch Rating มีตัวชี้วัดจาก
1) ภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ซึ่งสะท้อนภาพความแข็งแกร่งของการบริหารจัดการทางการคลังอย่างรอบคอบและเป็นไปตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง ซึ่งแม้ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นจากการกู้เงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19
2) ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ที่ยังคงมีความเข้มแข็ง และส่งผลต่อการจัดอันดับความเชื่อถือของประเทศไทย โดยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง เพียงพอสำหรับใช้จ่ายถึง 10.8 เดือน ขณะที่กลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกัน (Peers) มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.3 เดือน นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2564 ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยจะยังคงเกินดุลที่ 0.5% ต่อ GDP และจะเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
"รัฐบาลพึงพอใจกับการจัดอันดับ และเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพยายามเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างกว้างขวางให้ครอบคลุม รวมถึงการเปิดจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง (Phuket Sandbox) ไปแล้ว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจะเริ่มเปิดพื้นที่อื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไป เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ตามนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี" นายอนุชา กล่าว