นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (บอร์ด สสว.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งได้มอบนโยบายต่อที่ประชุมว่า รัฐบาลต้องการให้ สสว. ปรับรูปแบบการทำงานให้ดีขึ้นให้มากที่สุด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และมีผลสัมฤทธิ์ตามห้วงระยะเวลา ต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย พร้อมกับจะต้องปรับปรุงระบบ ระเบียบราชการต่าง ๆ ตามยุทธศาสตร์ชาติ บทบาทหน้าที่ของ สสว. ต้องมีงานบูรณาการเปิดช่องทางต่าง ๆ ให้คนเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ให้สอดประสานการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
ทั้งนี้ ระดับของ SME ในวันนี้มี 4 ระดับที่แตกต่างกัน คือ 1. SME ที่ดีที่สามารถส่งเสริมไปต่างประเทศ 2. SME ระดับปานกลาง ที่ต้องส่งเสริมให้ดีขึ้น 3. SME ส่วนที่กำลังจะล้ม ที่หากมีศักยภาพต้องพิจารณาให้ความช่วยเหลือ 4. SME ที่ล้มเหลว ซึ่งต้องรวบรวมข้อมูลของ SME ในส่วนนี้จากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อนำมาพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า เศรษฐกิจของประเทศไทย ส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนได้ก็เพราะจาก SME จึงขอให้เน้นช่วยผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ถึงแม้ว่าจะมีคนที่อยู่ในระบบภาษีจำนวนน้อยก็ตาม แต่ผู้มีรายได้น้อย แรงงาน คนตัวเล็กทั้งหมดที่อยู่ในระบบนี้ จะต้องได้รับการดูแล มีอาชีพและมีรายได้ประจำวัน และต้องหาแนวทางช่วยเหลือ SME ให้เข้าสู่ระบบ โดยต้องค้นหาเป้าหมายว่า SME ที่จะช่วยเหลือนั้นอยู่ในกลุ่มใดบ้าง และต้องหาช่องทางการได้ข้อมูลของ SME ในแต่ละกลุ่ม ต้องนำข้อมูล SME ของแต่ละกระทรวงมาพิจารณา เพื่อนำไปสู่การสนับสนุนงานในแต่ละกระทรวง เพื่อเตรียมความพร้อมของ SME ในระดับปฏิบัติให้มีความพร้อม เพิ่มประสิทธิภาพของ SME และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาต่อไปในอนาคต หากทำได้ดีและเข้มแข็ง SME จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยที่สุด
สำหรับการประชุมในวันนี้ สสว. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบถึงการดำเนินงาน ซึ่งได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งจะดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือ SME ผ่านระบบผู้ให้บริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจ (Business Development Service : BDS) หรือการจ่ายคนละครึ่งภาค SME เพื่อสร้างทางเลือกให้กับ SME ในการพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ตรงตามความต้องการมากขึ้น โดย สสว.จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) มีสัดส่วนตั้งแต่ 50-80 %
สำหรับค่าใช้จ่ายที่สามารถขอรับการสนับสนุน 5 ด้าน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายด้านการเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ด้านการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด ด้านการพัฒนาตลาดต่างประเทศ โดยคุณสมบัติของ SME ต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษีและขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว. ซึ่งคาดว่า จะเริ่มใช้ได้ในต้นปีงบประมาณ 2565 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ สสว. ยังได้ดำเนินการพัฒนาระบบการให้บริการผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (SME Access) ซึ่ง SME Access จะเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากจะเป็นการบูรณาการและอำนวยความสะดวกให้ SME ในการเข้าถึงงานบริการของ สสว.และหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าไว้ในที่เดียว เข้าถึงได้ทุกเวลา จากทุกสถานที่ ผ่านเครื่องมือสื่อสารทุกชนิด
ทั้งนี้ในปี 2564 สสว. เริ่มบูรณาการเชื่อมต่อระบบการให้บริการผู้ประกอบการ SME ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ SME ที่ดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์ ASEAN Access ซึ่งจะเป็นเว็บไซต์กลางของอาเซียน เพื่อส่งเสริมให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงข้อมูลและบริการรูปแบบต่างๆ ผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การใช้ประโยชน์จากข้อมูลการค้าการลงทุน เทรนด์ของอุตสาหกรรม กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และพฤติกรรมผู้บริโภค เป็น "รายประเทศ" การขยายช่องทางการค้าการลงทุนผ่านการเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคอาเซียน
รวมถึงการดำเนินโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On ฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. เพื่อขอรับบริการจากภาครัฐ (One Identification One SME - Phase I) โดย สสว. ได้หารือร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ในประเด็นรหัสของ SME
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สสว. ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการบนฐานข้อมูลสมาชิก สสว. โดยปัจจุบันมีจำนวนข้อมูลประมาณ 1.2 ล้านราย ที่ได้ลงทะเบียนในระบบฐานข้อมูลสมาชิกของ สสว. แล้ว โดยเป้าหมายของโครงการนำร่อง ONE ID และพัฒนาระบบ Single Sign On จะมุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการให้บริการของภาครัฐและเอกชนในทุกภาคส่วนของผู้ประกอบการ SME