ETDA เปิดเฮียริ่ง พ.ร.ก.ควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ 15 ก.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 6, 2021 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) (Electronic Transactions Development Agency) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .? รอบแรก กลุ่มคณะกรรมการ อนุกรรมการ หน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เสร็จสิ้นแล้ว เตรียมเดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็น รอบ 2 กลุ่มทั่วไป 15 ก.ค. นี้ ทางออนไลน์

ETDA ได้จัดทำ Digital Standard Landscape เพื่อให้เกิดแผนภาพของธุรกิจบริการดิจิทัล ที่จะนำไปสู่การกำหนดแนวทางในการส่งเสริมธุรกิจบริการเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ พร้อมกับการเสนอแนะมาตรฐาน ตลอดจนกฎหมายในการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและความมั่นคงปลอดภัยนั้น คือหนึ่งในภารกิจสำคัญที่ ETDA เดินหน้าขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อกำกับดูแลธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 32 กำหนดให้มีการตราเป็นกฎหมายลูกระดับพระราชกฤษฎีกาเมื่อมีความจำเป็นตามที่กำหนดไว้ ที่ผ่านมา

ETDA จึงได้ทำการศึกษาแนวทางในการกำกับดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจาก stakeholder ต่าง ๆ โดยเน้นไปที่กลุ่ม e-Commerce, Sharing economy และ Streaming platform พร้อมทั้งนำข้อมูลสถิติที่ได้รับจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 OCC มาประกอบด้วย ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาผู้บริโภค ตลอดจนผู้ประกอบการที่เป็นผู้ค้าบนแพลฟอร์มได้รับผลกระทบจากปัญหาการซื้อขายของออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น การแสดงรายละเอียดของสินค้า หรือบริการที่ไม่ชัดเจน การจำกัดตัวเลือกในการขนส่ง ได้รับสินค้าล่าช้า มีความเสียหายไม่ตรงปก การฉ้อโกง ผู้ขายไม่สามารถทำตามคำสั่งจองได้ ราคาไม่เป็นธรรม

ขณะที่ระบบการช่วยเหลือ รับแจ้งร้องเรียนไม่มีประสิทธิภาพ ล่าช้า และที่สำคัญคือ ปัญหาการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเองก็อยากให้หน่วยงานรัฐมีมาตรฐานหรือแนวทางในการดำเนินการที่ชัดเจนเช่นกัน และปัญหาที่สำคัญอีกประการคือแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มาจากต่างประเทศ อาจไม่ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งหรือมีตัวแทนในไทย ทำให้การติดตามประสานงานเมื่อเกิดข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทเป็นไปโดยยาก รวมถึงก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการคุ้มครองผู้ใช้งานระหว่างผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการไทย

ดังนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหา (Pain Points) ข้างต้นให้มีประสิทธิภาพ ETDA จึงได้ดำเนินการการศึกษาตัวอย่างกฎหมายที่มีการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลและธุรกิจบริการดิจิทัลจากประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องนี้หลายฉบับ เช่น กฎหมาย Platform-to-business regulation (P2Bregulation) ที่จะดูแลการให้บริการของผู้ให้บริการสื่อกลางออนไลน์ (Online Intermediation Services) กับผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม (Business user), ร่างกฎหมาย Digital Services Act (DSA) และ Digital Markets Act (DMA) ที่อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมาย รวมถึงกฎหมายของญี่ปุ่นที่ดูแลความโปรงใสและความเป็นธรรมในความสัมพันธ์ระหว่าง platform กับ business user จนนำมาสู่การจัดทำแนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลของไทย เกิดเป็น (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .? ขึ้น เพื่อเป็นกรอบในการควบคุม ดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ให้เกิดความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ มีการดูแลคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม ส่งเสริมต่อยอดให้เกิดการพัฒนามาตรฐานหรือกฎเกณฑ์ในการให้บริการให้เท่าเทียมกันอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การยกระดับวิถีชีวิตด้วยดิจิทัล สู่การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ หัวใจหลักจะเน้นที่การดูแลมาตรฐานการให้บริการที่มีความเป็นธรรม (Fairness) โปร่งใส (Transparency) และมีการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้มีการนิยามของคำว่า บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า จะต้องเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการในลักษณะที่เป็นสื่อกลางที่มีพื้นที่ให้ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ business user และผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน โดยการใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในการเสนอสินค้า บริการ หรือทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง พร้อมมีการกำหนดให้ แพลตฟอร์มในลักษณะข้างต้น จะต้องแจ้งให้หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) ทราบก่อนประกอบธุรกิจ เพื่อให้ง่ายต่อการติดตามตรวจสอบในกรณีเกิดปัญหาจากการใช้บริการต่างๆ

และหากผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มไม่ใช่สัญชาติไทย แต่มีการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในไทย จะต้องมีตัวแทนในไทย ทำหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์มและผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและดูแลไม่ต่างจากแพลตฟอร์มสัญชาติไทย เช่น จะต้องจัดช่องทางการร้องเรียน พร้อมมีแนวทางในการระงับข้อพิพาทที่เหมาะสม รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ มีมาตรการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ ตลอดจนจะต้องมีความชัดเจนในการแสดงสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงการโฆษณา การจัดอันดับรายการสินค้าในการแนะนำที่โปร่งใส มีมาตรฐาน ฯลฯ

ทั้งนี้ เพื่อให้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .? มีความครบถ้วน ครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ไม่ซ้ำซ้อนหรือเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการดิจิทัลแพลตฟอร์ม ETDA จึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวทางออนไลน์ ผ่านระบบ Microsoft Teams ครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ในลักษณะกลุ่มปิดเฉพาะ Policy Maker รวมถึงหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการกำกับ ETDA (บอร์ด ETDA) คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ตำรวจ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเสนอแนะแนวทางต่างๆ รวมกว่า 140 คน

และในครั้งที่ 2 นี้ ETDA เตรียมเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายฯ ในกลุ่มทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้ค้า/ผู้ประกอบการบนแพลตฟอร์ม ผู้ใช้บริการ ผู้บริโภค และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ในวันที่ 15 ก.ค. 2564 นี้ เวลา 09.00-12.00 น. จากนั้นในช่วงบ่ายเวลา 13.30-16.30 น. จะเป็นการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการแจ้งและการควบคุมดูแล เฉพาะในกลุ่มผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ทางออนไลน์ด้วย โดยทุกความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ETDA จะทำการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการปรับปรุงร่างกฎหมายฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนเข้าสู่กระบวนการในลำดับถัดไป

ผู้ที่สนใจจะเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายฯ ดังกล่าว สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ลิงค์ https://bit.ly/2SFLGC8วันที่ 13 ก.ค.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ