ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากกระแสการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ที่แตกต่างจากค่ายรถกระแสหลักที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็นธุรกิจบริการรับจ้างผลิตรถ EV หรือ EVCM (EV Contract Manufacturing) บนแพลตฟอร์มแบบเปิด (Open EV Platform) ซึ่งเปิดกว้างสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่นอกเหนือจากค่ายรถยนต์เดิมให้สามารถใช้แนวทางจ้างผลิตรถ EV บนแพลตฟอร์มร่วมเพื่อเข้าสู่ตลาดรถ EV ได้ โดยอาศัยจุดแข็งของเครือข่ายพันธมิตร EVCM ทั่วโลกในการร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มรถ EV และเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้บริการรับจ้างผลิตรถ EV
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการ EVCM น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจในโมเดลธุรกิจใหม่ดังกล่าว แต่ก็มีแนวโน้มต้องเผชิญโจทย์ด้านการสร้างฐานลูกค้าจ้างผลิตรถ EV ที่เพียงพอ รวมไปถึงแนวโน้มอุปทานและการแข่งขันที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีมุมมองดังนี้ แม้ตลาดรถ EV จะมีความน่าสนใจและยังคงมีโอกาสทางการตลาดอยู่อีกมาก สะท้อนจากแนวโน้มยอดขายรถ EV ที่เติบโตต่อเนื่องมากกว่า 20% ต่อปี และปัจจุบันยังคงมีสัดส่วนตลาดต่ำกว่า 5% ของยอดขายรถยนต์ทุกประเภททั่วโลก แต่กระแสความสนใจในการลงทุนผลิตรถ EV ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นจากค่ายรถยนต์กระแสหลัก รวมไปถึงผู้เล่นหน้าใหม่ทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมอื่น อาจก่อให้เกิดภาพเหตุการณ์ที่อุปทานอาจเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าอุปสงค์รถ EV ที่มีแนวโน้มจะเติบโตได้ในอนาคต
ทั้งนี้จากการรวบรวมและประเมินแผนการลงทุนที่ประกาศโดยผู้เล่นในตลาดรถ EV ทั่วโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กำลังการผลิตรถ EV โลกน่าจะพุ่งแตะ 22.7 ล้านคันในปี 2568 แซงหน้ายอดขายรถ EV ในปีดังกล่าวที่คาดว่าจะอยู่ที่เพียงราว 11.3 ล้านคัน สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันในตลาดรถ EV ที่ตามมาว่าน่าจะมีแนวโน้มทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้นในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ ภาพการแข่งขันในตลาดรถยนต์ยุค EV ก็เริ่มมีความแตกต่างไปจากอุตสาหกรรมรถยนต์เดิมที่มุ่งเน้นการแข่งขันในการพัฒนาฮาร์ดแวร์เพื่อยกระดับสมรรถนะของรถยนต์เป็นหลัก โดยมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปสู่การแข่งขันกันพัฒนาบริการหรือซอฟท์แวร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับรถ EV เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับรถ EV ของตน เช่น บริการสับเปลี่ยนหรือชาร์จแบตเตอรี่ที่เชื่อมโยงกับระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ภายในรถ EV ซึ่งสามารถเตือนและนำทางไปยังสถานีบริการในกรณีที่แบตเตอรี่ใกล้หมดได้ เป็นต้น ภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ได้เปิดช่องว่างทางการตลาดและเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนการแข่งขันให้สูงขึ้น แม้ว่าผู้ประกอบการ EVCM จะเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตรถ EV ให้กับผู้เล่นในตลาด แต่การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นก็ย่อมส่งผลต่อออเดอร์การผลิตของธุรกิจบริการดังกล่าว ซึ่งกล่าวได้ว่าคู่แข่งสำคัญทางอ้อมของผู้ประกอบการ EVCM ก็จะเป็นค่ายรถกระแสหลักที่แข่งขันในตลาดรถ EV ซึ่งมักอาศัยการพัฒนาแพลทฟอร์มรถยนต์ขึ้นเอง เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการ EVCM กลับอาศัยการพัฒนาแพลทฟอร์มร่วมที่เปิดกว้างให้สามารถเพิ่มเติมฟังก์ชั่นหรือบริการใหม่ได้ ทั้งนี้ ภายใต้การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ โมเดลธุรกิจ EVCM บนแพลทฟอร์มแบบเปิดก็มีจุดแข็งบางประการซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่อาจทำให้สามารถแข่งขันและอยู่รอดในสมรภูมิรถ EV ในระยะข้างหน้าได้ ดังนี้
ลดต้นทุนพัฒนาแพลตฟอร์มและผลิตรถ EV ให้กับผู้ว่าจ้าง แพลทฟอร์มพื้นฐานของรถ EV จะถูกพัฒนาร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญด้านฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์แตกต่างกันจากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และ ICT เป็นต้น และเชื่อมโยงกันเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้บริการรับจ้างผลิตรถ EV ทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถลดต้นทุนการพัฒนาและสร้างโรงงานลงได้เมื่อเทียบกับค่ายรถกระแสหลักที่มีต้นทุนดังกล่าวรวมกันกว่าแสนล้านบาท
นอกจากนี้ การใช้แพลตฟอร์มร่วมระหว่างผู้ว่าจ้างผลิตรถทำให้เกิดการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันมากขึ้น ส่งผลให้ลดต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนจากการผลิตจำนวนมากได้ ง่ายต่อการต่อยอดสู่ธุรกิจบริการใหม่ที่เข้าถึงฐานผู้ใช้งานบนแพลตฟอร์มร่วม ภายใต้โครงสร้างธุรกิจแบบเปิดและการใช้แพลทฟอร์มพื้นฐานร่วมกันในลักษณะเดียวกับแพลตฟอร์ม Android บนสมาร์ทโฟน ทำให้เกิดการเปิดกว้างให้พันธมิตรสามารถพัฒนาซอฟท์แวร์หรือบริการใหม่ ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกันได้ระหว่างผู้ว่าจ้างผลิตรถ EV ที่ใช้แพลตฟอร์มพื้นฐานเดียวกัน ส่งผลให้ฐานลูกค้าธุรกิจบริการใหม่มีโอกาสขยายตัวได้อย่างรวดเร็วกว่าของค่ายรถกระแสหลักที่มักใช้แพลตฟอร์มแบบปิดซึ่งถูกใช้เพียงภายในค่ายรถของตนเท่านั้น อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับสมาร์ทโฟนที่ใช้แพลตฟอร์ม Android ยอดขายของรถ EV บนแพลตฟอร์มแบบเปิดอาจขยายตัวได้ไม่เร็วเท่า เนื่องจากวงจรชีวิตของรถยนต์มักจะยาวกว่าสมาร์ทโฟนมาก
พร้อมกันนี้ก็ยังคงต้องเผชิญโจทย์สำคัญที่จะกำหนดความเป็นไปได้ทางธุรกิจในระยะยาว คือ การสร้างฐานลูกค้าจ้างผลิตรถ EV ที่มีปริมาณเพียงพอและมีจุดขายในตลาดรถ EV ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญโดยเฉพาะในห้วงเวลาที่การแข่งขันในตลาดรถ EV เริ่มทวีความเข้มข้นขึ้น โดยมีการกำหนดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นค่ายรถกระแสหลัก และผู้เล่นหน้าใหม่ที่สนใจตลาดรถ EV โดยวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของตลาด ดังนี้
ตลาดค่ายรถกระแสหลัก น่าจะเผชิญความท้าทายในการจับตลาด เนื่องจากค่ายรถกระแสหลักมักอาศัยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองเป็นปัจจัยในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง จึงอาจจะยังคงลังเลที่จะใช้แพลทฟอร์มแบบเปิดซึ่งเปิดกว้างให้ใช้เทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกันได้ นอกจากนี้ ปัจจุบัน กลุ่มค่ายรถกระแสหลักโดยส่วนใหญ่มักมีแพลตฟอร์ม EV ที่พัฒนาด้วยตนเองและวางแผนจะวางตลาดอยู่แล้ว มีเพียงน้อยรายโดยเฉพาะค่ายรถเล็กบางค่ายเท่านั้นที่กำลังร่วมกับพันธมิตรพัฒนาแพลตฟอร์ม EV อยู่ ทำให้โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการ EVCM สำหรับลูกค้ากลุ่มนี้น่าจะมีจำกัด
ตลาดผู้เล่นหน้าใหม่ ตลาดกลุ่มนี้จะเป็นผู้เล่นที่มาจากนอกอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่มีความสนใจที่จะเชื่อมโยงความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมของตนเข้ากับเทคโนโลยีรถ EV เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ EVCM น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจในตลาดกลุ่มนี้เพราะผู้เล่นมักจะยังไม่มีแพลทฟอร์มรถ EV เป็นของตนเอง โดยหนึ่งในกลุ่มผู้เล่นที่มีโอกาสจะใช้บริการ EVCM น่าจะเป็นผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรม ICT ที่ต้องการอาศัยจุดแข็งของตนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเข้ามาเปิดโอกาสด้านธุรกิจบริการที่เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีรถ EV แม้ว่ากลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ดังกล่าวจะมีโอกาสทางธุรกิจ แต่การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นโดยเฉพาะกับค่ายรถกระแสหลักที่มีความได้เปรียบด้านภาพลักษณ์และการยอมรับจากผู้บริโภค รวมไปถึงการเริ่มปรับตัวด้านยุทธศาสตร์ของธุรกิจไปสู่บริการดิจิทัลมากขึ้น น่าจะทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่บางส่วนอาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการขยายตลาดในระยะข้างหน้า
ในระยะที่ตลาดรถ EV โลกเพิ่งเริ่มขยายตัว ผู้ประกอบการ EVCM น่าจะพอมีโอกาสทางธุรกิจอยู่บ้าง แต่การจะขึ้นมามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญน่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้ระยะเวลา ขณะที่ในระยะยาวการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นจากการที่ค่ายรถกระแสหลักโดยเฉพาะค่ายรถญี่ปุ่นและจีนเริ่มทำตลาดรถ EV โลกอย่างจริงจัง อาจจะส่งผลต่อการทำตลาดของผู้ว่าจ้างผลิตรถ EV ซึ่งจะกลับมากดดันผลประกอบการของธุรกิจบริการ EVCM ในท้ายที่สุด
สำหรับภาพการแข่งขันดังกล่าวก็น่าจะเกิดขึ้นกับตลาดไทยหากมีการนำโมเดลธุรกิจ EVCM มาใช้ในไทยเช่นกัน ฉะนั้น เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการที่จะเริ่มบริการ EVCM ในไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว นอกเหนือจากการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีกับเครือข่ายพันธมิตร EVCM ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง การร่วมวางยุทธศาสตร์กับพันธมิตรให้ไทยสามารถขยายฐานลูกค้าจ้างผลิตรถ EV ได้เพียงพอน่าจะมีส่วนสำคัญ โดยอาจใช้แนวทางการวางตำแหน่งทางการตลาดให้ไทยรับจ้างผลิตรถ EV พวงมาลัยขวา ซึ่งจะเป็นการสร้างความต่างและลดการทับซ้อนในการทำตลาดบริการ EVCM ระหว่างไทยกับฐานธุรกิจ EVCM อื่นโดยเฉพาะสหรัฐฯ และจีนที่เป็นฮับการผลิตรถพวงมาลัยซ้ายที่สำคัญของโลก แนวทางดังกล่าวอาจจะช่วยให้ไทยมีส่วนแบ่งในการรับจ้างผลิตรถ EV ให้กับผู้ประกอบการ ICT โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และจีนที่กำลังต้องการเชื่อมโยงธุรกิจบริการดิจิทัลกับรถ EV ซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากในระยะข้างหน้า