(เพิ่มเติม) กกร.ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือโต 0-1.5% จากเดิมคาด 0.5-2%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2021 15:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) กกร.ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้เหลือโต 0-1.5% จากเดิมคาด 0.5-2%

คณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0 - 1.5% จากเดิม คาดว่าจะเติบโตได้ราว 0.5 - 2% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ

ด้านการส่งออก กกร.ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกไทยในปี 64 โดยคาดว่าจะขยายตัว 8 - 10% จากเดิมคาดว่า จะเติบโตราว 5 - 7% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาค อุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0 - 1.2% ตามคาด การณ์เดิม

ทั้งนี้ กกร.มองว่า เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป

"ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0 - 1.5% ขึ้นอยู่กับความ รุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร.ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะ ขยายตัว 8 - 10% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรม ได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1 - 1.2%" นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธาน กกร.แถลงภายหลังการประชุมฯ

เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า การแพร่ระบาดระลอก ใหม่รุนแรงขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ทำให้จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดใน การควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงานและรายได้แรงงาน ในพื้นที่ควบคุม

นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางและข้อจำกัดในการกักตัว คาดว่ายังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศ ตลอดช่วงไตรมาสที่สาม และอาจจะกระทบแผนการเปิดประเทศได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดให้ ได้โดยเร็ว โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย

ภาคการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้เดิม แม้การฟื้น ตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกจะแผ่วลงเล็กน้อยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไป เกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศ เช่น อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ต้องกลับมายกระดับมาตรการควบ คุมโรคอีกระลอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป แต่ภาคส่งออกไทยยังมีศักยภาพและมี โอกาสในการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้เดิม อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตของไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 และ การกระจายวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง

เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น สะท้อนการสำรวจโดย ธปท. ในเดือน มิ.ย. ที่พบว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าธุรกิจอาจจะ ฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งช้ากว่าเดิม 6 เดือน โดยธุรกิจส่งออกเป็นเพียง Engine เดียวของเศรษฐกิจ สอด คล้องกับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลงกว่าเดิม ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายเพิ่ม เติม เพื่อพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ

                              กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ของ กกร.

%YoY          ปี 2563 (ตัวเลขจริง)          ปี 2564 (ณ มิ.ย. 64)          ปี 2564 (ณ ก.ค 64)
GDP               -6.1                      0.5 ถึง 2.0                  0.0 ถึง 1.5
ส่งออก             -6.0                      5.0 ถึง 7.0                  8.0 ถึง 10.0
เงินเฟ้อ            -0.85                     1.0 ถึง 1.2                  1.0 ถึง 1.2

สำหรับข้อเสนอของ กกร.ต่อภาครัฐ 4 ประการ ได้แก่

1.มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสิน เชื่อฟื้นฟูธุรกิจได้มากขึ้น กกร.ขอเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของ ธนาคารจาก 40% เป็น 70% และจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ได้รับผลกกระทบจากโควิด-19 แยกจากลูกหนี้ NPL ทั่วไป รวมไปถึง การยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีที่ 1-3 เนื่องจากอยู่ในช่วงเดือดร้อนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการ นอกจากนี้การ ให้ความช่วยเหลือ SME ภายใต้โครงการ Faster Payment ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ผู้ประกอบการได้รับการ ชำระเงินค่าสินค้าได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการขยายไปยัง SET100 และภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป เพิ่มจากเดิมที่ได้ดำเนิน การ MOU ไปแล้ว 163 แห่ง

2.การจัดสรรวัคซีน

  • ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมาก โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล การกระจายวัคซีนไปยังศูนย์ฉีด
วัคซีนของภาคเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ ที่พร้อมจะสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจากรัฐบาลมากระ
จายและเร่งการฉีดที่ 25 ศูนย์ที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการฉีดได้มากถึง 80,000 โดสต่อวัน และมีมาตรฐานในการรองรับผู้ฉีด
ทุกกลุ่ม โดยขอให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์ฉีดฯ ให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบในภาพรวม โดยภาคเอกชนพร้อมที่
จะช่วยรัฐบาลในการเร่งฉีดและกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน
  • ควรเร่งแผนการจัดหาวัคซีน และมีจุดยืนของวัคซีนทางเลือกที่ชัดเจนให้เป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์สร้าง
ความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว หรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะ
ยาว เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด โดยนำบทเรียนจากจัดหาวัคซีนรอบแรกมาปรับแผน เพื่อให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนที่พร้อมต่อการ
รับมือกับเชื้อโควิด 19 ที่กลายพันธุ์
  • ขอให้จัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย โดย
เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และหัวเมืองสำคัญ ที่มีสัดส่วนสร้างรายได้เข้าประเทศมากถึง 40% ของ GDP

3.สำหรับแผนในระยะยาว กกร. สนับสนุนให้ประเทศไทยต้องดำเนินการในการพัฒนาระบบ Digital Vaccine Passport โดยเฉพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุม APEC 2022 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางมาจากต่าง ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งคนไทยในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยต้องให้ระบบและข้อมูล เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนทั้งในประเทศ INBOUND OUTBOUND ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Open API ในการเชื่อมต่อต่อข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกับภาคส่วนต่างๆ

4.การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ กกร.สนับสนุนการพัฒนากองเรือของชาติ เพื่อส่งเสริมเรือที่เป็นของบริษัทจด ทะเบียนในประเทศไทย ชักธงไทยบนเรือ โดยให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวกด้านกฎ/ระเบียบ ตลอดจนโครงสร้างภาษี รวมทั้งเร่ง รัดการออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. ... ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อมีระเบียบรองรับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแล พาณิชยนาวี แบบองค์การมหาชน ทำหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีโดยตรง เพื่อให้กองเรือไทย ธุรกิจพาณิชยนาวีไทย แข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม

หากภาครัฐต้องการมีบทบาทในการผลักดันกองเรือไทย โดยการมีกองเรือที่ภาครัฐมีส่วนร่วม ขอให้ใช้กลไกที่มีอยู่ใน ปัจจุบัน คือ บริษัท บทด จำกัด ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่แล้ว เป็นกลไกส่งเสริมกองเรือและพาณิชยนาวีไทย ก็จะมีความคล่องตัวและเหมาะ สม ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากองเรือของชาติ ซึ่งมีภาคเอกชนโดย กกร.เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในสถานการณ์ขณะนี้หากมีการกระจาย วัคซีนไปฉีดให้ประชาชนได้มากที่สุด จะช่วยให้วิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น จึงไม่ควรมีข้อจำกัดเรื่องการจัดหาวัคซีน โดยไม่ควรกำหนดว่าวัคซีนตัวใดเป็นวัคซีนตัวหลัก วัคซีนตัวใดเป็นวัคซีนทางเลือก แต่ทุก ฝ่ายควรจะช่วยกันจัดหาวัคซีนมาใช้งานให้ได้มากที่สุด และเร็วที่สุด

"ให้ประชาชนได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อยากจะให้ได้ตามที่มีการผลักดัน ไม่ใช่แค่ 2-3 วัคซีน ควรเน้นว่าวัคซีนใดที่ จะหาให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด" นายสุพันธุ์ กล่าว

ส่วนเหตุผลที่มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในเดือน ก.ค.นี้ เนื่องจากเห็นว่าวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาวะ เศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้าออกไปจะส่งผลให้ GDO ลดลง 1.0-1.5% แต่การส่งออกที่ขยายตีวเพิ่มขึ้น และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาค รัฐจะทดแทน GDP ที่ปรับตัวลดลงไป

อย่างไรก็ตาม หากวิกฤตโควิด-19 ยืดเยื้อและมีมาตรการที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็อาจส่งผลให้ GDP ปรับตัวลดลงมากกว่านี้ได้

ส่วนกรณีที่อาจมีการยกระดับมาตรการควบคุม หากวิกฤตโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายด้วยการล็อคดาวน์นั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ควรพิจารณากำหนดจุดและมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน เช่น หากจะปิดแคมป์ก่อสร้าง ก็ควรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนำ เสนอแนวทางแก้ไข หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงค่อยมีคำสั่งล็อกดาวน์ ซึ่งคิดว่าภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ และเป็น เรื่องที่ติดตามดูอย่างใกล้ชิด

ขณะที่นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอให้ภาครัฐดูแลเรื่องการจัดหาวัคซีนมา ฉีดให้กับประชาชนอย่างเพียงพอและรวดเร็ว ขณะที่ภาคเอกชนเตรียมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่น การนัดประชุม CEO จำนวน 40 บริษัท เพื่อหารือมาตรการรองรับการเปิดประเทศ, การเข้าพบนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เพื่อหารือถึงปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ