นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยในงานสัมมนาส่องธุรกิจฝ่าวิกฤติโควิดระลอกใหม่ ซึ่งจัดโดย บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเวทีเจาะลึกทางออกทางธุรกิจว่า หากมีการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนในปีก่อน อาจทำให้การบริโภคจะชอลอตัวอย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจกลับไปติดลบ โดยคาดว่าจะเติบโตต่ำกว่า 1% จากคาดการณ์ที่ 1.3% เนื่องจากปีนี้การส่งออกฟื้นกลับมาเติบโตได้มาก และการใช้จ่ายของภาครัฐที่เข้ามาหนุนการใช้จ่ายภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ แน่นอนว่ายังคงเป็นกลุ่มเดิมที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน เช่น ร้านอาหาร สินค้าค้าปลีก ค้าส่ง วัสดุก่อสร้าง และโรงแรม ซึ่งมองว่ากลุ่มนี้จะเห็นการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 65 ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบในปีนี้ จะเป็นกลุ่มการส่งออก หรือเกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งออก อย่าง อิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าปีนี้ส่งออกจะเติบโตได้มากกว่า 40%
พร้อมกันนี้แนะเอกชนควรเร่งปรับตัว บริหารสภาพคล่อง เพื่อให้ธุรกิจไม่ปิดตัวลง การศึกษาทำการตลาดเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการขายออนไลน์ดิลิเวอรี่
CIMBT มองว่าจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ที่ลากยาว ประกอบกับการฉีดวัคซีนล่าช่า หรือวัคซีนยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ มีผลต่อเนื่องให้การระบาดของโควิด-19 ในระลอกอื่นๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมา ขณะเดียวกันยังมีไวรัสกลายพันธุ์ และปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งก่อนหน้านี้สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 ลงจากเติบโต 1.9% เหลือ 1.3% และปี 65 ลดลงจากเติบโต 5.1% เหลือ 4.2%
ทั้งนี้ ทิศทางเศรษฐกิจหลังโควิด-19 น่าจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป โดยมีปัจจัยขับเคลื่อน 4 ด้าน ประกอบด้วย
1. Confidence ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค มองว่าถ้าหากมีการเร่งฉีดวัคซีน 4 แสนโดสต่อวัน ในไตรมาส 3/64 ก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคฟื้นตัวได้เร็ว และส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป รวมไปถึงการผ่อนคลายมาตรการได้เร็วก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งด้วย
2. Agriculture ภาคการเกษตร จะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดการภัยแล้งในปีนี้ไม่ได้รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้ยังสามารถประคองภาคการเกษตรได้ดีอยู่ ยังมีการจับจ่ายใช้สอยในชุมชน แนะรัฐบาลสร้างสาธารณูปโภคในพื้นที่เพื่อสนับสนุนการทำการเกษตร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกำลังซื้อของภาคการเกษตรขยายตัวได้ดีขึ้น
3. Return of tourism การกลับมาของนักท่องเที่ยว โดยยังเชื่อว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศราว 4-5 แสนคน และน่าจะเห็นชัดเจนในช่วงไตรมาส 4/64 ซึ่งภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์จะเป็นผลดีช่วยให้สามารถเรียนรู้เพื่อขยายไปยังการเปิดเมืองอื่นๆ ต่อไป รวมถึงยังช่วยให้พื้นที่ที่อิงกับการท่องเที่ยวเป็นหลักมีรายได้กลับเข้ามา โดยเฉพาะร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ตั้งแต่ปีก่อน
4. Expenditure การใช้จ่ายภาครัฐ ผ่านการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ อย่างร้านอาหาร สามารถประคองตัวเองไปได้
นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจยังเผชิญกับอีก 4 ปัจจัยเสี่ยงเสริมเข้ามา ได้แก่ Stagnant การบริโภคการใช้จ่ายของประชาชนที่อยู่ในระดับทรงตัว, Uneven การฟื้นตัวไม่เท่าเทียม ระหว่างบางกลุ่มคนที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก มีสภาพคล่องเพียงพอ กับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หายไป เป็นต้, Reverse ความผันผวนของตลาดโลก และ Effective ประสิทธิภาพวัคซีน
ทั้ง 4 ปัจจัยนี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจในปีนี้ ปีหน้าเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า แต่จะไม่รุนแรงถึงขั้นพาเศรษฐกิจไทย กลับไปสู่ภาวะวิกฤติ หรือทำให้เศรษฐกิจติดลบ โดยแนะรัฐเร่งสร้างความเชื่อมั่น เตรียมแผนล่วงหน้า คู่ขนานไปกับงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ จะช่วยประคองกำลังซื้อของคนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ในปีหน้า สำนักวิจัยฯ ประเมินค่าเงินบาทในไตรมาส 3/64 จะปรับตัวอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ จากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และการเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยและการถอน QE ของสหรัฐฯ ขณะที่คาดค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาที่ระดับ 32.00 บาท/ดอลลาร์ ในไตรมาส 4/64 จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาจากรายได้ภาคบริการที่ฟื้นตัวขึ้น และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ที่จะส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้าประเทศ