ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) เดือน มิ.ย. 64 ปรับตัวลดลงมาที่ 43.1 จากระดับ 44.7 โดยมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 272 เดือนหรือ 22 ปี 8 เดือนนับตั้งแต่ทำการสำรวจในเดือน ต.ค.41 เป็นต้นมา
เนื่องจากมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของในประเทศไทยในรอบที่ 3 ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลง และการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ล่าช้าส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนักและขาดแรงกระตุ้นในการฟื้นตัว แม้ว่ามาตรการของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการ "เราชนะ" และโครงการต่างๆ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้ปรับตัวดีขึ้นทั่วประเทศในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงย่ำแย่จากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 37.3 , 40.0 และ 52.1 ตามลำดับ โดยปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือน พ.ค.64 ที่อยู่ในระดับ 38.9 , 41.3 และ 53.9 ตามลำดับ
ศูนย์พยากรณ์ฯ ระบุว่าในเดือน มิ.ย.64 มีปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สำหรับปัจจัยที่เป็นปัจจัยลบได้แก่ 1. ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา และพบเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่เชื้อได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์เดิม รวมทั้งมีพบการแพร่ระบาดในกลุ่มโรงงาน สถานประกอบการ แคมป์ คนงาน รวมทั้งการระบาดในชุมชนและครอบครัว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว และบริการต่างๆ ตลอดจนความกังวลต่อแผนการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจทำให้สถานการณ์โควิด-19 ยืดยาวออกไป
2.รัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วน ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลและ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ให้มีการหยดุงานก่อสร้างโดยเน้นไปที่โครงการขนาดใหญ่อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงกาจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปเท่านั้น
3.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 64 โดยคาดว่าจะขยายตัว 1.8% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3.0% และในปี 65 คาดว่าจะขยายตัว 3.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.7% ตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอก 3 ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตวัได้ช้า อย่างไรก็ดีเศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจากพ.ร.ก.กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
4. ระดับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
5. ความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์ทางด้านการเมือง ตลอดจนการชุมนุมทางการเมือง ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนอดีตที่ผ่านมา
6. ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงผู้บริโภคยังรู้สึกว่ารายได้ในปัจจุบันไม่สอดคลอ้งกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
7. SET Index ในเดือน มิ.ย.64 ปรับตัวลดลง 5.80 จุด โดยปรับตัวลดลงจาก 1,593.59 จุด ณ สิ้นเดือน พ.ค.64 เป็น 1,587.79 จุด ณ สิ้นเดือน มิ.ย.64
8. เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 31.299 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน พ.ค.64 เป็น 31.438 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือน มิ.ย.64 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่
1. ภาครัฐดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วยโครงการ "เราชนะ" "ม.33 เรารักกัน" โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง
2. การฉีดวัคซีนโควิด เริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตลอดจนการฉีดวัคซีนของทั้งโลกทำให้สถานการณ์โควิด-19 ในระดับโลกปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่น และคลายความวิตกกังวลลง
3. คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเอกฉันท์ให้คงอตัราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ซึ่งมีความเสี่ยงด้านต่ำ และคณะกรรมการเร่งให้ดำเนินนโยบายการปรับโครงสร้างหนี้และเร่งดำเนินการด้านสินเชื่อฟื้นฟูมากกว่าการลดดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ธปท.พร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ
4. การส่งออกของไทยในเดือน พ.ค.64 มีมูลค่า 23,057.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 41.59% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 22,261.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 63.54% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 795.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ช่วง 5 เดือนแรกปี 64 ส่งออกได้รวม 108,635.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10.78% และมีการนำเข้ารวม 107,141.12 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 21.52% ส่งผลให้เกินดุลการค้ารวม 1,494.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดีโดยเฉพาะข้าว ปาล์ม น้ำมัน และยางพารา ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น
การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้งท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิดรอบที่ 3 แสดงว่าผู้บริโภคยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและในโลกว่าจะส่งผละกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคจะระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามของการฉีดวัคซีนทั่วประเทศในเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป การแพร่กระจายของโควิดรอบที่ 4 ว่าจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลจะมีการประกาศ Lockdown หรือไม่และอย่างไร ตลอดจนรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตเพิ่มเติมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด จะมีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคตได้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวใกล้เคียง 0-2% ได้