นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของบริการทางการเงินดิจิทัล และได้ผลักดันให้เกิดโครงการความร่วมมือระหว่างธนาคารสมาชิกของสมาคมธนาคารไทย สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารนานาชาติ รวมทั้งสิ้น 29 แห่ง โดยได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การพัฒนามาตรฐานและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงิน
สำหรับบริการแรกภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ คือ การรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลระหว่างสถาบันการเงิน โดยประชาชนจะสามารถเรียกข้อมูล bank statement จากสถาบันการเงินหนึ่ง เพื่อนำไปใช้ขอสินเชื่อกับอีกสถาบันการเงินหนึ่งผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยลดภาระการเดินทาง ระยะเวลาในการดำเนินการขอและรับส่งข้อมูลอย่างมาก ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินจะสามารถลดต้นทุนการตรวจสอบและประมวลผลด้านเอกสาร รวมถึงลดความเสี่ยงที่เอกสารอาจถูกปลอมแปลงได้อีกด้วย
ผู้ว่าอธปท. กล่าวว่า บริการรับส่งข้อมูล bank statement ทางดิจิทัลนี้ จะเริ่มภายในเดือน ม.ค. 65 โดยมีสถาบันการเงินพร้อมให้บริการ 10 แห่ง ครอบคลุมกว่า 98% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมดของประชาชนในระบบธนาคารไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ความร่วมมือดังกล่าว จะช่วยพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินในรูปแบบดิจิทัล เพื่อให้ผู้ใช้บริการทางการเงินสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลการเงินของตัวเองได้สะดวกขึ้น ได้รับบริการในระยะเวลาที่สั้นลงและมีต้นทุนที่ถูกลง
อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในการพัฒนาและใช้มาตรฐานข้อมูลดิจิทัลเพื่อส่งเสริมบริการทางการเงินนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นต้นแบบที่ขยายไปสู่ความร่วมมือในลักษณะเดียวกันของภาครัฐและภาคเอกชน จนเกิดระบบนิเวศด้านข้อมูลของประเทศที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลได้สะดวกและรวดเร็ว และผู้ให้บริการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละรายได้ดียิ่งขึ้น
"ปัจจุบันระบบสถาบันการเงินยังขาดกลไกการเชื่อมโยงข้อมูล และมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนยังไม่ได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้อย่างเต็มที่ การเรียกใช้ข้อมูลของตนเองจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเพื่อขอใช้บริการกับสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่ง ยังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ต้องขอข้อมูลในรูปแบบเอกสารกระดาษ ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับความสะดวก สร้างต้นทุนที่ไม่จำเป็น และยังมีส่วนในการจำกัดการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการด้วย" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว