นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้ธนาคารออมสินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนเกณฑ์การอนุมัติ "สินเชื่ออิ่มใจ" วงเงิน 2,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการกู้ได้รายละไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักประกันการกู้ และให้ปลอดชำระเงินงวด 6 งวดแรก กำหนดระยะเวลากู้ไม่เกิน 5 ปี (รวมระยะเวลาปลอดชำระแล้ว) คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี และยกเว้นค่าธรรมเนียมการให้บริการสินเชื่อ
ธนาคารเตรียมเปิดให้บุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการร้านอาหาร ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอกู้ทางเว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.-31 ธ.ค.64 หรือจนกว่าจะครบจำนวนวงเงินโครงการ จากนั้นธนาคารจะตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียนขอกู้ โดยผู้กู้จะต้องแนบรูปถ่ายสถานประกอบการของตนเอง พร้อมเอกสารประกอบอื่น เช่น รูปถ่ายใบเสร็จ/สัญญาเช่า/ใบทะเบียนการค้า หรือเอกสารอื่นใดเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการประกอบกิจการและการเป็นเจ้าของ
โดยสามารถตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นได้ หลังจากลงทะเบียนแล้วภายใน 5 วันทำการ หลังจากนั้นผู้ที่คุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้นสามารถยื่นขอกู้ได้ที่แอป MyMo ในขั้นตอนถัดไป รวมระยะเวลาอนุมัติ ไม่เกิน 7 วันทำการ
ทั้งนี้ ร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่สามารถยื่นขอกู้ตามมาตรการ "สินเชื่ออิ่มใจ" จะต้องเป็นสถานประกอบการในพื้นที่ถาวร เช่น ร้านที่เปิดในห้องแถวหรืออาคารพาณิชย์ ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ฟู้ดคอร์ท รวมถึงร้านอาหารที่มีลักษณะเป็น Food Truck, Pop-Up Store, Booth & Kiosk เป็นต้น โดยธนาคารจะพิจารณาวงเงินให้กู้ตามขนาดของธุรกิจ
"ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อ ไม่ลดการจ้างลูกจ้าง เพื่อช่วยกันประคับประคองผู้ที่เดือดร้อนให้สามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน" ผอ.ธนาคารออมสินระบุ
สำหรับผู้ขายอาหารที่เป็นหาบเร่ แผงลอย หรือ รถเข็น สามารถใช้บริการ "สินเชื่อสู้ภัย COVID-19" ผ่านช่องทางแอป MyMo วงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 10,000 บาท หรือถ้าเป็นกิจการร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีความจำเป็นต้องใช้สินเชื่อมากกว่า อาจใช้บริการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อผู้ประกอบการ SMEs ภาคการท่องเที่ยว วงเงินให้กู้รายละ 500,000 บาท ที่ยังเปิดรับคำขอกู้อยู่ขณะนี้ก็ได้