นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ค.คณะกรรมการ กกพ.มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 โดยให้เรียกเก็บที่ -15.32 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้ายังคงจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิมในอัตรา 3.61 บาทต่อหน่วย ต่อไปจนถึงสิ้นปี 64 ตามแนวทางการพิจารณาที่จะเกลี่ยค่าเอฟทีให้คงที่ตลอดปีนี้ ทั้งนั้เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน
ทั้งนี้ การตรึงค่าเอฟทีในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 พิจารณาจาก 1. ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.64 เท่ากับประมาณ 64,510 ล้านหน่วย ปรับตัวลดลงจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน พ.ค.-ส.ค.64) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 67,885 ล้านหน่วย หรือลดลง 4.97%
2. สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงดังกล่าว ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 53.90% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 20.13% และค่าเชื้อเพลิงลิกไนต์ของ กฟผ. 9.45% ถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.43% และอื่นๆ อีก 6.90% 3. ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ก.ย.-ธ.ค.64 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน พ.ค.-ส.ค.64 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นจากในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค.64 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ ปรับตัวลดลงและคงที่
4. อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (วันที่ 1-31 พ.ค.64) เท่ากับ 31.30 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.64 ที่ประมาณการไว้ที่ 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
สำหรับวงเงินที่ใช้ในการบริหารค่า FT ครั้งนี้จะอยู่ที่ 4,129 ล้านบาท โดยจะใช้ในการบริหารในเดือนพ.ค.-ส.ค.64 ราว 1,698 ล้านบาท และเดือน ก.ย.-ธ.ค. จำนวน 10.11 ล้านบาท ส่งผลให้ยังมีวงเงินคงเหลืออีกกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยรักษาเสถียรภาพค่าเอฟทีหากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบและอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่าที่ประมาณการไว้
ทั้งนี้ กกพ.ได้ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 66.3 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล และค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่ามาอยู่ที่ระดับ 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ในเดือนพ.ค.64 ซึ่งมีผลโดยตรงต่อค่าเอฟทีในช่วงปลายปี
"ภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ตามปริมาณความต้องการการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์การเริ่มฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจของไทยยังอยู่ในภาวะเปราะบาง และได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ยังคงรุนแรงและขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง การตรึงค่าเอฟทีจึงเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจ และไม่เป็นการซ้ำเติมผู้ใช้ไฟฟ้าจากค่าเอฟทีที่ปรับเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี"นายคมกฤช กล่าว
ขณะที่ในปี 65 กกพ.มองราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะราคาพลังงานขาขึ้น ทำให้ค่าเอฟทีในปีหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับมองว่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทุก 1 บาท/ดอลลาร์ จะกระทบกับค่าเอฟทีให้เพิ่มขึ้นประมาณ 6 สต./หน่วย โดย กกพ.มีวงเงินในการบริหารค่าเอฟทีราว 2,000-3,000 ล้านบาท ยอมรับว่าอาจไม่เพียงพอต่อการตรึงค่าเอฟทีได้เช่นเดิม
นายคมกฤช กล่าวว่า ส่วนการพิจารณามาตรการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนต่อเนื่องไปอีก 2 เดือน (ก.ค.-ส.ค.64) ปัจจุบันกกพ. เพิ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานให้ประเมินแนวทางการลดค่าไฟฟ้า โดย กกพ. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 หน่วยงาน ในการประเมินหลายแนวทาง เช่น การลดค่าไฟฟ้าเฉพาะจุด การลดค่าไฟฟ้าทั้งประเทศเหมือนช่วง 2 เดือนก่อนหน้า (พ.ค.-มิ.ย.64) เป็นต้น ซึ่งคาดว่าสรุปนำส่งให้กระทรวงพลังงานพิจารณาได้ในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม การลดค่าไฟรอบนี้จะแตกต่างจากรอบก่อน เนื่องด้วยงบประมาณของ กกพ.ที่ใช้สนับสนุน ปัจจุบันเหลือเพียงใช้บริหารค่าเอฟทีดังกล่าวเท่านั้น หากจะมีการลดค่าไฟฟ้าต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือประชาชน จะต้องให้รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน และตัดสินใจว่าจะดำเนินมาตรการนี้ต่อไปอย่างไร โดย กกพ.ทำได้เพียงเสนอแนวทางให้เท่านั้น
โดยในเดือน พ.ค.-มิ.ย.64 ที่ผ่านมา กกพ.ใช้วงเงินในการสนับสนุนค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชน 8,770 ล้านบาท และคาดว่าหากมีการลดค่าไฟฟ้าต่อเนื่องอีก 2 เดือนนี้จะต้องใช้วงเงินใกล้เคียงกัน แต่หากเป็นการลดค่าไฟฟ้าบางพื้นที่ หรือเฉพาะพื้นที่สีแดงก็จะใช้วงเงินในการสนับสนุนต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท
ด้านปริมาณการใช้ไฟฟ้าในปี 64 กกพ.ประเมินว่าจะใกล้เคียงกับปี 62 ที่ยังไม่มีการล็อกดาวน์ เนื่องจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมาการใช้ไฟฟ้าปรับตัวขึ้นสูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ การใช้ไฟฟ้าก็ลดลง แต่ก็ยังอยู่สูงกว่าปี 63 ขณะที่ในกรณีที่มีการล็อกดาวน์ ก็ยังมองว่าการใช้ไฟฟ้าน่าจะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน