นายชนะ คณารัตนดิลก รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะนำกรอบการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) อาเซียน-สหภาพยุโรป (อียู)เสนอให้คณะรัฐมนตรีนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามที่รัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 190 กำหนดไว้ คาดจะได้รับความเห็นชอบ
ทั้งนี้ อาเซียนเตรียมจะออกแถลงการณ์เปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในเดือนพ.ย.นี้ ที่สิงคโปร์ โดยการเจรจาจะเริ่มขึ้นในเดือนม.ค.51 คาดจะใช้เวลา 2 ปีจึงจะสรุปข้อตกลงได้
สำหรับกรอบการเจรจาประกอบด้วยการเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และเรื่องอื่นๆ ตามแต่จะตกลง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ นโยบายการแข่งขัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า เป็นต้น หากการเจรจาสำเร็จจะทำให้การค้า 2 ฝ่ายขยายตัวได้มากขึ้น โดยสินค้าและบริการที่จะได้ประโยชน์ทันทีคือ อัญมณี อาหาร ยานยนต์ และการท่องเที่ยว
"ขณะนี้ อาเซียนยังยืนยันที่จะให้พม่าเข้าร่วมการเจรจาด้วย เพราะต้องการจะเจรจากันเป็นภูมิภาค ซึ่งอียูก็ยอมแล้ว แต่เมื่อเจรจาเสร็จแล้ว พม่าจะยอมลงนามข้อตกลงหรือไม่เป็นเรื่องของพม่า หากไม่ลงนาม พม่าก็จะไม่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงนี้" นายชนะกล่าว
นายคมสัน โอภาสถาวร ประธานคณะกรรมการสหภาพยุโรป สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังการเจรจาผลสำเร็จ มูลค่าการค้า 2 ฝ่ายจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 50% และสินค้าเกือบทุกรายการของไทยจะได้ประโยชน์ ไทยจะเป็นแหล่งลงทุนที่อียูให้ความสนใจมากขึ้น เพราะมีจุดแข็ง ที่จะรองรับการลงทุนได้ แต่ภาคเอกชนต้องเร่งปรับตัวรองรับการแข่งขัน พร้อมกันนั้น ต้องเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันด้วย เช่น ลดข้อกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการด้านภาษี
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนอียูพยายามล็อบบี้คณะกรรมาธิการยุโรปช่วยปกป้องและส่งเสริมผลประโยชน์ในอาเซียนให้มากที่สุด โดยเฉพาะการเปิดตลาดธุรกิจบริการ การลงทุน และการจัดซื้อโดยรัฐ ซึ่งอาเซียนยังปิดกั้น และไม่โปร่งใส ในขณะที่กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรมีท่าทีแข็งกร้าวไม่ต้องการเปิดเสรีให้แก่คู่แข่งจากอาเซียน ส่วนภาคบริการ ยุโรปต้องการเปิดตลาด ได้แก่ โทรคมนาคม การท่องเที่ยว การเงินการธนาคาร
นอกจากนี้ ยังต้องการให้มีการเจรจาแก้ไขกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวของไทย และกฎหมายภูมิบุตราของมาเลเซีย ที่ปิดกั้นมากเกินไป แก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการห้ามโฆษณาสุราในสื่อต่างๆ ของไทย รวมถึงแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในอาเซียนอย่างจริงจังอีกด้วย
--อินโฟเควสท์ โดย พณฦ/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--