กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เผยมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทวในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.85 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 32.57 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 32.08-32.73 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 15 เดือน เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรและเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ขณะที่เงินดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์แคนาดาซึ่งเป็นสกุลเงินที่เชื่อมโยงสูงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกปรับตัวอ่อนค่าลง โดยนักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์และอัตราการฉีดวัคซีนต่ำในบางภูมิภาคของโลก ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของสหรัฐฯแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
อย่างไรก็ดี ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอีกครั้งท้ายสัปดาห์หลังธนาคารกลางจีนระบุว่าจะลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (Reserve Requirement Ratio) เพื่อหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ประกาศยุทธศาสตร์ใหม่สู่เป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% จากเป้าหมายเดิมที่ "ต่ำกว่าแต่ใกล้เคียง 2%" โดยอีซีบีกล่าวว่าการที่อัตราเงินเฟ้อเบี่ยงเบนออกจากเป้าหมายทั้งด้านสูงและต่ำ ถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในระดับเท่าเทียมกัน ซึ่งต่างจากกรอบใหม่ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เฟดอาจพยายามชดเชยช่วงเวลาที่เงินเฟ้ออยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยการปรับยุทธศาสตร์ของอีซีบีเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1,596 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 1,823 ล้านบาท
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ฯ มองว่า ตลาดการเงินโลกจะจับตาข้อมูลเงินเฟ้อและยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายนของสหรัฐฯ รวมถึงจีดีพีไตรมาส 2 ของจีน ขณะที่ประธานเฟดจะแถลงนโยบายการเงินต่อสภาคองเกรสวันที่ 14-15 กรกฎาคม โดยคาดว่าประธานเฟดจะยังคงแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ต่อภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและสถานการณ์ตลาดแรงงานที่บางส่วนได้รับผลกระทบถาวรจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะคงนโยบายไว้ในการประชุมวันที่ 15-16 กรกฎาคม อนึ่ง ในระยะนี้แม้ว่าแรงส่งด้านขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ในตลาดโลกอาจถูกจำกัด แต่การเคลื่อนย้ายของกระแสเงินทุนยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวัง
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สถานการณ์การแพร่ระบาดยังน่าเป็นกังวลอย่างมีนัยสำคัญ แม้มาตรการควบคุมโรคมีความชัดเจนมากขึ้นบ้างก็ตาม โดยในระยะสั้นเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันในด้านอ่อนค่าต่อเนื่องและเคลื่อนไหวสอดคล้องน้อยลงกับทิศทางของตลาดโลก