ธนาคารโลก (World Bank) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 ลงเหลือ 2.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือน มี.ค.ที่ระดับ 3.4% เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะได้รับผลกระทบอย่างหนักต่อไปอีกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
นางเบอร์กิต แฮนเซิล ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยซึมตัวลงเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสามที่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาในปีนี้คาดว่าจำนวนจะลดเหลือเพีง 6 แสนคนเท่านั้น เมื่อเทียบกับในปี 62 ที่ก่อนเกิดการระบาดสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยถึง 40 ล้านคน
"ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน รายได้ และความยากจน แต่การรับมือด้วยมาตรการความคุ้มครองทางสังคมที่ครบถ้วนของรัฐบาล ส่งผลเป็นที่น่าพอใจ...พื้นที่การคลังของไทยยังมีเพียงพอสำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือคนยากจนในช่วงเวลาหลายเดือนข้างหน้า" ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุ
พร้อมเห็นว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการที่ค่อนข้างดีในแง่ของระดับและความรวดเร็วในการรับมือด้านการคลัง เนื่องจากรัฐบาลได้ขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประชาชน จากเดิมที่อยู่ในระดับที่ไม่มากนัก มาเป็นชุดของมาตรการเยียวยาเพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งธนาคารโลกได้จำลองสถานการณ์เบื้องต้นไว้ว่าในปี 63 ประเทศไทยจะมีคนจนเพิ่มขึ้นอีกกว่า 7.8 แสนคน หากรัฐบาลไม่เพิ่มมาตรการความช่วยเหลือทางด้านสังคม
ด้านนายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก คาดว่า ในปี 65 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 5.1% ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.2% ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากอุปสงค์โลก โดยเฉพาะการฟื้นตัวของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล และผลิตผลทางการเกษตร แต่ก็ต้องจับตาความเสี่ยงที่ยังมีอยู่มากที่อาจทำให้การฟื้นตัวต้องล่าช้าออกไป เช่น การเกิดไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดได้
ทั้งนี้ ความรวดเร็วในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในประเทศ ประสิทธิผลของมาตรการสนับสนุนทางด้านการคลัง และระดับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ
"เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ขึ้นกับ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ จะมีการระบาดของโรคโควิดในประเทศอีกรอบหรือไม่, การจัดหาและการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด รวมทั้งการกลับคืนมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทย" นายเกียรติพงศ์ กล่าว
พร้อมมองว่า ความยั่งยืนทางการคลังยังมีเพียงพอที่จะออกนโบายหรือมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่มาตรการที่จะออกมาควรต้องปรับให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายหรือความต้องการของเป้าหมายให้มากที่สุด เพื่อให้นโยบายการคลังเกิดประสิทธิผล
ทั้งนี้ ธนาคารโลกมีข้อเสนอแนะในเชิงโยบายที่สำคัญ 3 ข้อ ดังนี้
1. การจัดสรรวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพียงพอและทั่วถึง จะมีความสำคัญและเป็นปัจจัยหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากเป็นตัวแปรสำคัญที่จะกำหนดความช้า-เร็ว ในการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา ซึ่งรวมไปถึงการฟื้นตัวของภาคบริการ และการบริโภคภายในประเทศตามมาด้วย
2. ธนาคารโลกมองว่า ปัจจบุนนโยบายด้านการคลังของไทย ยังมีพื้นที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจ และยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลังได้ แต่การใช้นโยบายดังกล่าว ควรเป็นแบบเจาะจงเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ
3. จากสถานการณ์การค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ทำให้ไทยควรใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปโครงสร้างการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงค์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของการค้าและการลงทุนในระดับโลก
"มาตรการตรวจเชื้อ สืบย้อน กักตัวที่เหมาะสม และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดอย่างทั่วถึง จะมีความจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงการล็อกดาวน์ กระตุ้นการเพิ่มการเคลื่อนย้าย และการบริโภคในประเทศให้ต่อเนื่อง และเพื่อให้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้...ในระยะยาว การปฏิรูปเพื่อลดต้นทุนและอุปสรรคการค้า จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก" นายเกียรติพงศ์กล่าว
ส่วนมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ที่รัฐบาลใช้อยู่ในขณะนี้ มองว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยจะไม่มากเท่ากับในปีก่อนที่มีมาตรการเข้มงวดกว่า เนื่องจากมองว่าในปีนี้แม้จะมีการใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ แต่ภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ได้ปรับตัวไปแล้วก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน (เดลิเวอร์รี่) ซึ่งทำให้คาดว่าการบริโภคในปีนี้ ยังขยายตัวได้ 1.3% และขยายตัวได้ 3.9% ในปี 65
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ 90% จากช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิดซึ่งอยู่ในระดับกว่า 80% นั้น ยอมรับว่ามีความน่าเป็นห่วง เพราะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากผลของรายได้ครัวเรือนที่หายไปจากที่มีการหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจชั่วคราว ทำให้ประชาชนมีภาระหนี้สูงขึ้นท่ามกลางรายได้ที่ลดลง รวมไปถึงการว่างงาน ดังนั้นสิ่งที่นโยบายรัฐบาลจะช่วยได้ คือการใช้มาตรการเยียวยาในการสนับสนุนรายได้ของประชาชน ช่วยให้แรงงานสามารถกลับเข้าสู่ระบบการจ้างงาน รวมทั้งปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน
นายเกียรติพงศ์ กล่าวด้วยว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าจะควบคุมได้ จนส่งผลให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดยาวจนไตรมาสที่ 3/64 ซึ่งถือเป็นกรณีเลวร้ายที่สุด จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้ลดลงเหลือ 1.2% ได้ จากปัจจุบันคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.2% ขณะที่ปี 65 การเติบโตอาจจะลดลงเหลือ 2.1% ได้ จากปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 5.1%
"World Bank คาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิดในแต่ละระลอกไว้ ผ่านมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลใช้ควบคุมการแพร่ระบาด โดยยอมรับว่ามาตรการล็อกดาวน์ในปัจจุบันที่ดำเนินการอยู่ไม่ได้เข้มข้นเท่ารอบแรก และยังเข้มข้นน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ การบริโภคชะลอตัวลงบ้าง แต่ท้ายที่สุดประชาชน และครัวเรือนจะมีการปรับตัวตามมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลประกาศใช้" นายเกียรติพงศ์ กล่าว