สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการยกระดับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สู่การส่งออก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในการจำหน่ายสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว.กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีจุดมุ่งหมาย 3 ประการ คือ 1.การช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น 2.การเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้า และ 3.การเข้าถึงแหล่งทุน โดยตั้งเป้าให้มีเอสเอ็มอีสามารถยกระดับส่งออกได้เพิ่มขึ้นอีก 1,600 กิจการ
"หากช่วยให้เอสเอ็มสามารถเข้าถึงตลาดและเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้าได้แล้ว เชื่อว่าการเข้าถึงแหล่งทุนไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป" นายวีระพงศ์ กล่าว
หลังจากลงนามในบันทึกข้อตกลงวันนี้แล้ว จะมีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 6 ครั้ง ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ จันทบุรี, ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์,สงขลา, เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ โดยจะนำเสนอความสำเร็จของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในแต่ละภูมิภาค มาเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการรายอื่นปฏิบัติตาม
ด้านนางวรรธนา มงคลศรี รองกรรมการผู้จัดการ EXIM Bank กล่าวว่า การบูรณาการครั้งนี้จะเป็นระบบมากขึ้น เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถส่งออกได้มากขึ้น รายใดที่ยังไม่ได้ส่งออกก็สามารถส่งออกได้ รายใดที่ส่งออกอยู่แล้วก็สามารถส่งออกได้มากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีมากถึง 3.1 ล้านราย คิดเป็น 99.5% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ แต่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพียง 1% หรือราว 3 หมื่นรายเท่านั้นที่สามารถส่งออกได้
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นับตั้งแต่ปลายปี 62 ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่ได้การส่งออกที่เป็นเครื่องจักรตัวเดียวในการขับเคลื่อนฟันเฟืองของเศรษฐกิจให้หมุนต่อไปได้ ซึ่งจะเห็นได้จากยอดส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ที่ขยายตัวถึง 11% โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.ที่ขยายตัวมากถึง 42% สูงสุดในรอบ 11 ปี เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศ เช่น จีน สหรัฐ เศรษฐกิจฟื้นตัว
เอ็กซ์ซิมแบงก์จัดเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับโครงการนี้ไว้จำนวน 5 พันล้านบาท โดยจะมีแบบประเมินศักยภาพให้ผู้ประกอบการทำ เพื่อสำรวจตัวเองว่ามีจุดอ่อนตรงไหนจะได้แก้ไขได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเอ็กซ์ซิมแบงก์จะเข้าไปดูแลผู้ประกอบการตั้งแต่การปรับโครงสร้างหนี้ การพักหนี้ และการปล่อยสินเชื่อ ที่ผ่านมาเอ็กซ์ซิมแบงก์ได้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว 3 พันราย วงเงินสินเชื่อ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง 85% เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
"โครงการนี้ได้จัดเตรียมวงเงินสินเชื่อ EXIM Jump Start ไว้ 5 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 3% โดยผู้ประกอบการที่ได้สินเชื่อไปนั้นสามารถได้สินเชื่อเพิ่มเติมระหว่างทางเป็นระยะๆ หากมีความคืบหน้า" นางวรรธนา กล่าว
ขณะที่นายแสงชัย ธีรกุลวานิช ประธานกรรมการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า การส่งออกของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 12.5% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 6 แสนล้านบาท จากทั้งหมดกว่า 7 ล้านล้านบาท โดยปัจจัยที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอการให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.การสร้างองค์ความรู้ที่พร้อมในการนำเข้าและส่งออก 2.การแสวงหาช่องทางการตลาดใหม่ 3.นวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต 4.การสร้างเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือกัน และ 5.ข้อมูลข่าวสาร โดยตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกได้มากขึ้นจาก 3 หมื่นราย เป็น 3 แสนราย