นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ.วันนี้เห็นชอบให้ใบนุญาตการเป็นผู้ประกอบจัดหาและนำส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ 2 บริษัท คือ บริษัท PTT Global LNG Company Limited (PTTGL) และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเครือ SCG
ทั้งนี้ PTTGL ขออนุญาตเป็น Shipper เพื่อนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขายให้กับโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับ บมจ.ปตท. (PTT) หรือกลุ่มโรงไฟฟ้ารายเก่าที่มีสัญญาซื้อก๊าซฯแบบ Non-firm และต้องเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ LNG จาก Shipper รายใหม่
ส่วน SCG ต้องการนำเข้า LNG เพื่อขายให้กับภายในกลุ่มบริษัท SCG ที่ต้องการใช้ก๊าซฯ ดังนั้นจึงต้องขอใบอนุญาตค้าปลีกก๊าซฯ กับ กกพ.ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่เคยมีการค้าปลีกก๊าซมาก่อน ขณะที่ Shipper รายอื่นนำ LNG ไปขายต่อให้กับผู้ที่มีใบอนุญาตค้าปลีก LNG อยู่แล้ว หรือขายให้กับโรงไฟฟ้าโดยตรง
การได้รับใบอนุญาต Shipper ของทั้ง 2 ราย ส่งผลให้ปัจจุบันมี Shipper รายใหม่รวมทั้งสิ้น 7 รายที่สามารถขอโควต้าการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 4.8 แสนตันในปี 64
หลังจากนี้ กกพ.จะทำหนังสือสอบถามปริมาณความต้องการนำเข้า LNG โควต้า 4.8 แสนตัน ไปยังบริษัท PTTGL และ SCG ด้วย จากที่ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง Shipper ทั้ง 5 รายครบแล้วก่อนหน้านี้ แต่ยังไม่มีรายใดตอบกลับมายืนยันการนำเข้า LNG เบื้องต้น กกพ.ทราบว่าบางบริษัทจะยังไม่ใช้โควต้านำเข้า LNG ในรอบนี้ เนื่องจากปริมาณน้อยไม่คุ้มค่ากับการนำเข้า และอาจไปรอโควต้าของปี 65 ที่มีโควต้าถึง 1.74 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม การนำเข้าก๊าซตามโควต้าของปี 64 ทาง Shipper สามารถรวมตัวกันเพื่อนำเข้าได้ด้วย
สำหรับการจัดทำหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG จาก Shipper นั้น ทาง กกพ.ได้ดำเนินการจัดทำมากว่า 1 เดือนแล้ว และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนจากนี้ โดยจะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบและไม่ขายไฟฟ้าเข้าระบบ ซึ่งในปี 64 น่ายังไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ แต่จะเริ่มมีในปี 65 โดยโรงแรกที่จะใช้หลักเกณฑ์ใหม่อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าหินกองของ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) และโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เนื่องจากยังไม่มีการลงนามซื้อขายก๊าซฯมาก่อน และเป็นโรงไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นระหว่างมีนโยบายเสรีก๊าซธรรมชาติ
สำหรับ Shipper รายใหม่ทั้ง 7 รายประกอบด้วย
1. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
2. บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
3. บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด
4. บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
5. บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO)
6. PTTGL
7. SCG