บีโอไอปรับเกณฑ์มาตรฐานการตั้งเขตอุตสาหกรรมหวังลดต้นทุน-ราคาขายพื้นที่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2007 16:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บอร์ดบีโอไอ) ปรับมาตรฐานการตั้งเขตอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การตั้งนิคมอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เพื่อหวังช่วยลดต้นทุนการพัฒนานิคมและลดราคาขายพื้นที่ พร้อมกำหนดขนาดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายเครือข่ายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า บอร์ดบีโอไอเห็นชอบให้ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรมทั่วไปตามข้อเสนอของ กนอ. โดยผ่อนผันให้กิจการเขตอุตสาหกรรมทั่วไปที่มีพื้นที่เกิน 1,000 ไร่ มีพื้นที่ตั้งโรงงานได้เกินกว่า 75% ได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนจากเดิมที่กำหนดให้พื้นที่ตั้งโรงงานจะต้องไม่น้อยกว่า 60% และไม่เกิน 75% ของพื้นที่ทั้งหมด
เนื่องจากเทคโนโลยีของเขตอุตสาหกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางสำหรับจัดทำระบบสาธารณูปโภคจึงลดลง เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใหม่ใช้พื้นที่น้อยกว่าเดิม เพราะก่อสร้างในแนวดิ่ง ขณะที่ระบบเดิมต้องใช้พื้นที่มาก นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งซื้อน้ำจากภายนอก จึงไม่จำเป็นต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในนิคม และนิคมอุตสาหกรรมสามารถใช้บริการกำจัดขยะจากภายนอก โดยไม่ต้องมีพื้นที่เตาเผาขยะ
สำหรับเงื่อนไขเรื่องพื้นที่ขั้นต่ำของกิจการเขตอุตสาหกรรมทั่วไปนั้นยังกำหนดไว้เหมือนเดิมคือไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ เพื่อให้เกิดความสะดวกและง่ายต่อการพัฒนาคลัสเตอร์และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกิจการนิคมอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร ซึ่งปัจจุบันไม่มีการกำหนดพื้นที่ขั้นต่ำไว้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำไว้ที่ 500 ไร่ เพื่อส่งเสริมให้มีพื้นที่มากพอ สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่จะมีการขยายการดำเนินกิจการในทุกๆ ขั้นตอน หรือส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอในกิจการหลายๆ ประเภท
ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันมีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไปแล้วทั้งสิ้น 25 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 25,458 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเขตอุตสาหกรรมเฉพาะทาง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 257 ล้านบาท, เขตอุตสาหกรรมการพิมพ์ 1 โครงการ มูลค่า 772 ล้านบาท, เขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,229 ล้านบาท และ เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มูลค่าเงินลงทุน 3,867 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ