นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาออนไลน์ "THAILAND ECONOMIC MONITOR เส้นทางสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" ที่จัดโดยธนาคารโลก (World Bank) ว่า เศรษฐกิจประเทศไทยช่วงนี้เหมือนถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัด กำลังจะเริ่มฟื้นตัว แต่ก็ต้องมาเจอสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ และยังมีข่าวร้ายเรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ก็ยังมีความโชคดี ที่ภาคการเงินไทยมีความเข้มแข็งในระดับหนึ่ง ทำให้ขณะนี้ภาคการเงินถือเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจไทยช่วงนี้
ส่วนกรณีที่หลายประเทศมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น นายดอน ระบุว่า ในส่วนของประเทศไทยคงต้องใช้เวลาอีกระยะ เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าต่างประเทศมาก ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจึงจำเป็นต้องอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน
โดยในช่วง 1-2 ปีนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเป็นรูปตัวเค (K) กล่าวคือ อุตสาหกรรมหนึ่งจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะฟื้นตัวได้ช้า ดังนั้นหน้าที่รัฐบาลคือการพยุงให้อุตสาหกรรมขาล่างฟื้นตัวได้ดีขึ้น
นายดอน ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยหลังปี 2566 จะฟื้นตัวได้ปีละประมาณ 5% จากปีนี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 1.8% และปี 2565 ที่ 3.9% โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังไม่เข้าสู่แนวโน้มเดิมจนกว่าจะถึงปี 2570 ดังนั้นยอมรับว่าปัญหาโควิด-19 ส่งผลระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก
ส่วนภาวะเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ ถือเป็นข้อดีหนึ่งของเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะการที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดติดลบ หรือใกล้ระดับ 0 จึงทำให้ไม่มีแรงกดดันจากเงินบาทที่แข็งค่าไม่มี เพราะหากเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยคงไม่สามารถรับไหว