นายโรดริโก้ ราโต้ ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF กล่าวว่า เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อาจจะได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤตการณ์สินเชื่อที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่ได้รับความเสียหายหนักๆก็ตาม
"แม้ว่าจนถึงขณะนี้ผลกระทบที่มีต่อประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ร้ายแรง และแม้ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ดูมีท่าทีที่จะรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายได้ แต่ผลกระทบในอนาคตที่ลึกกว่านั้นอาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะหากปัญหาในตลาดเศรษฐกิจพัฒนาแล้วยังคงมีอยู่ต่อไป" ราโต้ กล่าวต่อคณะกรรมการการพัฒนาของธนาคารโลก
เขากล่าวด้วยว่า ประเทศเหล่านี้อาจได้รับผลกระทบ หากความโกลาหลที่เกิดขึ้นในตลาดการเงิน หากปัญหาในตลาดมีผลกระทบร้ายแรงอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก หรือนำไปสู่ภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ
"ยกตัวอย่างเช่น การบริโภคที่ชะลอตัวลงในสหรัฐอาจส่งผลร้ายแรงต่อการส่งออกและการผลิตของจีน ซึ่งจะส่งผลโยงใยไปยังประเทศอื่นๆในเอเชีย" ราโต้ กล่าว
นอกจากนี้ เขากล่าวด้วยว่า "สำหรับตลาดกำลังพัฒนา ปัจจัยแวดล้อมภายนอกที่เลวร้ายลงอย่างรุนแรง อาจกระตุ้นให้การเติบโตชะลอตัวลง ปัจจัยพื้นฐานที่แย่ลง และราคาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างไม่ถูกต้อง"
"เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทะยานขึ้น เป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จากประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางหลายประเทศให้มีสถานะแข็งแกร่ง ลองคิดถึงประเทศบราซิล ไนจีเรีย หรือ แซมเบีย การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบเลวร้ายยิ่งต่องบดุลการใช้จ่าย และการเติบโตทางเศรษฐกิจได้" ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ กล่าวทิ้งท้าย
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย ฤดี ภวสิริพร/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--