นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ 40 ซีอีโอ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน ในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) ผ่านระบบ Video Conference
นายกรัฐมนตรีขอบคุณเอกชนที่มาร่วมหารือเพื่อช่วยกันบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 วันนี้ โดยที่ผ่านมารัฐบาลและเอกชนได้พูดคุยกันต่อเนื่องมาโดยตลอด รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับการแพร่ระบาดโควิดที่รุนแรงมากขึ้นนี้ ยังเดินหน้าแก้ไขอย่างรอบด้าน ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนจนถึง 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มีการฉีดวัคซีนแล้วกว่า 14 ล้านโดส
อีกทั้งกำหนดมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยา ทั้งสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื้อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ มาตรการกระตุ้นการบริโภคภาคประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 มียอดการใช้จ่ายแล้วกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท โครงการ Phuket Sandbox และโครงการ Samui Model Plus เพื่อช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้ให้ข้อเสนอแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลมาตลอด ข้อเสนอแนะที่ทำได้ รัฐบาลดำเนินการทันที ในส่วนที่เป็นอุปสรรครัฐบาลก็พยายามเร่งแก้ไขให้ ทั้งนี้ ทุกมาตรการต้องเป็นตามกฎหมายและหลักการงบประมาณ เพราะเงินที่รัฐบาลที่นำมาใช้จ่ายมาจากภาษีของประชาชน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับสูง ต้องลดความขัดแย้ง ช่วยกันสร้างการรับรู้ เน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพราะทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การช่วยกันหาทางออกให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวในนาม 40 ซีอีโอพลัสว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและภาคเอกชนได้เตรียมข้อเสนอต่อรัฐบาลไว้ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลทั้ง 25 ศูนย์ของภาคเอกชนที่ร่วมกับ กทม. สามารถแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาล โดยมีศักยภาพสามารถให้บริการฉีดวัคซีนได้ถึงวันละ 80,000 คน/วัน ซึ่งเอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการจัดอุปกรณ์การแพทย์ ทั้ง Rapid Tests ยารักษา เตียงผู้ป่วยหนักและ ICU รวมทั้งมาตรการ Isolation โดยเทคโนโลยีดิจิทัล และจัด Platform ต่างๆ ซึ่งTeleMed ช่วยสร้างความเชื่อมั่น ลดจำนวนผู้ป่วยได้
2. การเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เสนอให้มีการขยายมาตรการช่วยเหลือทั้งกิจการที่ต้องหยุดประกอบตามคำสั่งของราชการ รวมทั้งธุรกิจในห่วงโซ่ต่างๆ รวมทั้งการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
3.การกระตุ้นเศรษฐกิจ แผนระยะสั้น-ระยะกลาง กระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้และกำลังซื้อสูง กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ให้เกิดการจ้างงาน รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่ New Economy
4. การฟื้นฟูประเทศไทย เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ตั้งคณะกรรมการร่วมรัฐเอกชน ขับเคลื่อนกิจกรรมที่มี Impact สูงและประชาชนไทยได้ประโยชน์ ได้แก่ เกษตรสมัยใหม่ ท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจด้วย Digital Transformation
ข้อเสนอทั้ง 4 แนวทางดังกล่าวเป็นการฟื้นฟูประเทศ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส ขณะเดียวกันประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังกล่าวแสดงความเข้าใจดีว่า รัฐบาลมีความยากลำบากในการทำงาน ภายใต้สถานการณ์โรคระบาดและเศรษฐกิจที่ผันผวนและไม่มีความแน่นอนสูง ภาคเอกชนให้กำลังใจนายกรัฐมนตรีและพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วยความจริงจัง
จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับฟังข้อมูลในวันนี้สอดคล้องกับนโยบายและแนวคิดของรัฐบาล ซึ่งทุกข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ซึ่งทั้งการช่วยเหลือ การให้สิทธิประโยชน์ รวมทั้งมาตราเยียวยาต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย
พร้อมกับยืนยันว่า นายกรัฐมนตี คณะรัฐมนตรี และศบค. ไม่เคยหยุดคิด หยุดทำงาน นายกรัฐมนตรีรับรายงานทุกวัน เพื่อสั่งการทั้งการรักษา การเยียวยา รวมทั้งการเตรียมมาตรการเรื่องงบประมาณ เพื่อดูแลคน 70 ล้านคน แต่ทุกมาตรการของรัฐต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย และได้ย้ำมาตลอดว่า ไทยต้องปรับรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ รัฐบาลทำหน้าที่กำหนดนโยบายสร้างโอกาสให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อน ที่สำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ลดความขัดแย้ง
และยืนยันว่า ยังเดินหน้าเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งเริ่มแล้วที่ภูเก็ตและสมุย และจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งรัฐบาลและเอกชนต่างก็มีความมุ่งมั่นตั้งใจเดินหน้าประเทศ เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน พร้อมรับข้อเสนอ ข้อห่วงใยทุกประเด็น ซึ่งจะได้นำไปหารือกับคณะรัฐมนตรีและ ศบค. ต่อไป