สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และภาคีพันธมิตรเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยอีก 24 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมเสนอ"มาตรการพักหนี้ ลดดอก เติมทุน งดบูโร ดัน 2 กองทุน" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs อย่างเป็นรูปธรรมให้ทุกภาคส่วนผ่านพ้นสถานการณ์อันยากลำบากนี้ไปด้วยกัน
"สมาพันธ์องค์กร ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการแพร่ระบาด แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีทั้งการเลิกจ้างการปิดกิจการ และฟ้องร้อง ยึดทรัพย์ ทางเราจึงได้ประชุมร่วมกันและมีมติให้เสนอมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาล และหวังว่ามาตราการที่เสนอจะได้รับการตอบรับ"นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าว
นายแสงชัย กล่าวว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเดือน ส.ค.64 ยังไม่คลี่คลาย ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการ SMEs อาจจะเหลือเพียง 0.5% ของจำนวนที่มีอยู่ โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ ร่ายย่อยและรายย่อม เนื่องจากรัฐบาลประกาศให้มีการหยุดการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจและขอให้ภาคเอกชนทำงานจากที่บ้านอีกครั้ง ซึ่งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 63 ทำให้ผู้ประกอบการ mSMEs จำนวนมากมีรายได้ไม่แน่นอน และขาดรายได้อย่างยาวนาน
ผนวกกับสถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดน้อยลง ประกอบกับมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโดยกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ mSMEs โดยตรงเป็นวงกว้างทั่วประเทศ
"เราจะเห็นได้ว่าความสำคัญของ mSMEs คือ 1 ใน 4 ของประชากร และมีการส่งออก 12.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น mSMEs จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลุ่มคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม หรือ กลุ่มคัสเตอร์ SMEs มีการติดไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดการขาดแรงงาน และอาจจะกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 3/64" นายแสงชัย กล่าว
สำหรับมาตรการที่นำเสนอในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. มาตรการพักต้น พักดอก ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น สำหรับกลุ่มลูกหนี้ mSMEs เดิม ทั้งที่ได้รับผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ให้เป็นหนี้เสีย (NPLs) ซึ่งการพักต้น พักดอกเบี้ย ไม่คิดดอกเบี้ยตลอดระยะเวลาการพักต้น และยืดระยะเวลาการชำระออกไป จะช่วยให้ต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ mSMEs ให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ และเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตต่อไป
2. มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
2.1 สำหรับ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่ในระบบสถาบันการเงิน เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดี ไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีสูงกว่า 5% ให้ลดลงมาที่ 4% เป็นเวลา 2 ปี โดยรัฐบาลช่วยอุดหนุน 1%
2.2 สำหรับ mSMEs ที่มีสินเชื่ออยู่กับแหล่งเงินกู้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non Bank) เป็นลูกหนี้เดิมมีการผ่อนชำระดี ไม่เป็น NPLs มีอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการที่สูงมาก จึงขอเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยและค่าบริการลดลงมา 50% จนครบอายุสัญญา 3. มาตรการสินเชื่อ Soft Loan วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท/ราย โดยให้พิจารณาวงเงินกู้จากกระแสเงินสดสุทธิจากบัญชีเงินฝากธนาคาร และไม่นำงบการเงินมาเป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์การให้สินเชื่อเป็นระยะเวลา 2 ปี เนื่องจากผู้ประกอบการ mSMEs อยู่ในระหว่างการปรับตัวเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ได้อย่างสะท้อนความเป็นจริง ซึ่งผู้ประกอบการ mSMEs มักจะใช้การหมุนเวียนเงินจากเงินสดในมือและเงินฝากธนาคารเป็นหลักในการดำเนินกิจการ การวิเคราะห์การให้สินเชื่อจึงควรวิเคราะห์จากกระแสเงินสด 4. มาตรการยกเว้นตรวจสอบข้อมูลเครดิต (เครดิตบูโร) เนื่องจากจากสถานการณ์ปัจจุบันย่อมมีผลกระทบที่ไม่ดีต่อข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการ mSME อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบการ ดังนั้น จึงขอเสนอให้สถาบันการเงินไม่นำเครดิตบูโรในช่วงการแพร่ระบาดมาพิจารณาการให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ mSMEs เป็นระยะเวลา 2 ปี 5. มาตรการกองทุนพัฒนาวิสาหกิจ ในปัจจุบันได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาวิสาหกิจ พ.ศ. .... เนื่องจากที่ผ่านมา mSMEsจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ทำให้เกิดหนี้นอกระบบเติบโตขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งการที่มีกองทุนนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ mSMEs สามารถสร้างแต้มต่อให้มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ แข่งขันได้มากขึ้น และมีระบบบ่มเพาะสร้างการเติบโตในอนาคต รวมทั้งทำให้ mSMEs เข้าสู่ระบบฐานภาษีเพิ่มขึ้น
กองทุนนี้จะเป็นเรือธง ทำให้เกิดการบริหารสินเชื่อในกองทุนได้คล่องตัว และมีเกณฑ์ที่ผ่อนปรนไม่ใช้เกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงขอให้ผลักดันกองทุนนี้ให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว และขอเสนอให้มีคณะกรรมการบริหารที่ต้องให้สัดส่วนของภาคเอกชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน สื่อมวลชนที่สามารถมีส่วนร่วมได้ในทุกระดับ โดยให้มืออาชีพเข้ามาบริหารกองทุน รวมทั้งต้องจัดระบบผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษาธุรกิจ mSMEs เพื่อเป็นพี่เลี้ยงและให้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีวินัยทางการเงิน บัญชี และเพิ่มขีดความสามารถอย่างต่อเนื่อง 6. กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 10 มิ.ย.64 มีสินเชื่อทั้งหมด 17,376,812 ล้านบาท สินเชื่อชั้นปกติ 15,726,823 ล้านบาท สินเชื่อชั้นกล่าวถึงพิเศษ (ไฟเหลือง) 1,112,851 ล้านบาท สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 537,138 ล้านบาท แต่มีปัญหา mSMEs จำนวนมากที่ติดกับดักทางการเงินเป็น NPLs ปัจจุบันกว่า 241,734 ล้านบาท หรือ 7.34% ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ 3,292,457 ล้านบาท (ไตรมาส 1/64)
หากประเมินสถานการณ์กลุ่มสินเชื่อที่มีแนวโน้ม NPLs (ไฟเหลือง) จะพบว่ามีถึง 432,563 ล้านบาท หรือ 13.14% ของวงเงินสินเชื่อ mSMEs ทั้งระบบ โดยเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนเกิดไวรัสโควิด-19 ถึง 258,519 ล้านบาท (ไตรมาส 4/62) กองทุนนี้จะช่วยให้ mSMEs ที่เป็น NPLs จากผลกระทบไวรัสโควิด-19 และก่อนหน้านี้ ได้รับการดูแล แก้ไข ปรับปรุงหนี้อย่างเป็นระบบ และสามารถถอดบทเรียน บ่มเพาะให้ mSMEs เหล่านี้กลับสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมีคุณภาพ และอยู่ในระบบฐานภาษีของรัฐ จึงขอให้ทางรัฐบาลเร่งดำเนินการยกร่าง พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟู NPLs เพื่อการพัฒนา mSMEs ไทย เป็นการด่วนเพื่อให้ทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบัน