นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เข้มงวดใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนค่อนข้างมากกับเศรษฐกิจในประเทศ หรือคิดเป็นสัดส่วน 49% ของ GDP ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และยังไม่มีความแน่นอนว่าทางการจะใช้มาตรการควบคุมเข้มงวดไปยาวนานแค่ไหน และจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นออกมาหรือไม่ และขยายวงไปในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่ หลังจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มที่จะกดดันเศรษฐกิจไทยตลอดช่วงไตรมาส 3/64 ค่อนข้างมาก
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการ GDP ของไทยลดลงไปแล้วเหลือขยายตัว 1% จากเดิมที่มองว่าขยายตัวได้ 1.8% เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ลากยาวมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลกระทบต่อการบริโภคในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลไกลที่เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย จากการที่แนวโน้มการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเดินเข้ามาได้มากขึ้นในหลายๆจังหวัดอาจจะมีแนวโน้มที่ต้องเลื่อนออกไป ทำให้ภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีหลังยังไม่เห็นการฟื้นตัวกลับมาดี โดยที่ภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วนใน GDP คิดเป็น 22% ของ GDP
ด้านภาคครัวเรือนยังเผชิญกับผลกระทบของรายได้ที่ลดลง จากการที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศต้องสะดุดไปจากมาตรการควบคุม และยังมีภาระหนี้สินครัวเรือนสูง ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อต่างๆ ให้ลดลงไปจากกำลังซื้อลดลง แม้ว่าทางภาครัฐจะเข้ามาเยียวยาในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายต่างๆบ้าง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมถึงมาตรการให้เงินสนับสนุนในโครงการต่างๆ แต่ยังเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งทางภาครัฐจะต้องมองหาแนวทางในการสร้างรายได้ให้ประชาชนกลับมาเมื่อสถานการณ์เริ่มกลับมาปกติ
"อุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบาง ท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นขึ้น จากการแพร่ระบาดสายพันธุ์เดลตาในไทยตอนนี้ ทำให้กดดันเศรษฐกิจค่อนข้างมาก มองว่าน่าจะเห็นการกลับฟื้นมาได้คงต้องรอไปถึงกลางปี 65 หากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับมาดีขึ้นชัดเจน ตอนนี้สิ่งเดียวที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้เร็วที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งการหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนมากและเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เผชิญกับปัญหาที่ซ้ำซ้อน และสามารถกลับมาเปิดเมือง ทำกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ สร้างความมั่นใจให้กับคนในประเทศ และทำให้เราสามารถกลับมาเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยหนุนจากภาคการส่งออกที่ยังมีการขยายตัวได้อย่างดี ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขภาคส่งออกเพิ่มเป็นขยายตัว 11.5% จากเดิมขยายตัว 9% จากการที่เศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวที่ดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจในประเทศขนาดใหญ่ ได้แก่ สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ซึ่งควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างดี และมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนไปแล้วค่อนข้างมาก
รวมถึงการส่งออกของไทยยังได้อานิสงส์จากการที่ไทยมีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสินค้าในกลุ่มที่มีความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นปัจจัยกระตุ้นการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยได้อานิสงส์ไปด้วย และเป็นปัจจัยช่วยผลักดันภาคการส่งออกไทยในปีนี้
ส่วนผลกระทบของที่ตามมาในฝั่งของตลาดเงินและตลาดทุนหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในไทยกลับมารุนแรงอีกครั้งหนึ่งนั้น จะเห็นว่านักลงทุนต่างชาติได้ขายหุ้นในตลาดหุ้นไทยออกไปมากแล้ว จากความกังวลและไม่มั่นใจต่อการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจไทยเกิดการสะดุด ขณะนี้นักลงทุนต่างชาติยังเป็นทิศทางการขายหุ้นไทยต่อเนื่อง และยังชะลอการเข้าลงทุน แต่เห็นเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้บางส่วน ซึ่งเป็นการป้องกันความเสี่ยง และการมองหาผลตอบแทนที่ไม่ผันผวนมาก และอาจจะได้ประโยชน์จากอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้
ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทของไทยยังคงได้ปรับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศที่ลากยาวเช่นเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่าไปแล้ว 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 64 มาอยู่ที่ระดับ 32.50-32.80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนหนึ่งมาจากการที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินออกจากตลาดหุ้นไทย และการที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมากในปีนี้ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมารับข่าวการลดการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) และการปรับเพิ่มดอกเบี้ยสหรัฐฯ จากทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก และทำให้ค่าเงินบาทกลับมาเป็นอ่อนค่าอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังมองว่าทิศทางของค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีหรือในช่วงปลายปีนี้ยังมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากที่ตลาดได้รับข่าวของการลดการใช้มาตรการ QE และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่มีความชัดเจนออกมาค่อนข้างมากไปแล้ว รวมถึงหากประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลงไปมาก มีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนได้เป็นจำนวนมาก และการกลับมาเปิดประเทศในช่วงไตรมาส 4/64 ตามแผนของภาครัฐ จะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ และทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในประเทศไทยมากขึ้น จึงกลับมาเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกครั้งทำให้ทิศทางค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงปลายปี ซึ่งทางธนาคารยังประเมินค่าเงินบาทสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 30.5-31 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ