กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า รัฐบาลของหลายประเทศที่พยายามปกป้องอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศของตนเองด้วยการแทรกแซงตลาดเมื่อมีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดภายในประเทศนั้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศนั้นๆเข้าสู่ภาวะ "ฮาร์ดแลนดิ้ง" หากกระแสเงินทุนชะลอตัวลง
"กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศนับตั้งแต่ช่วงค.ศ. 2000 ซึ่งทำให้ประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญ แต่อีกด้านหนึ่งนั้น กระแสเงินทุนหมุนเวียนก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญด้วย เพราะอาจทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป อีกทั้งยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง และอาจทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ" ไอเอ็มเอฟกล่าว
การวิเคราะห์เศรษฐกิจครั้งล่าสุดของไอเอ็มเอฟปรากฎอยู่ในรายงาน World Economic Outlook (WEO) ซึ่งครอบคลุมถึงรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกและรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจในแต่ละประเทศ ซึ่งมีขึ้นก่อนการประชุมไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกที่กรุงวอชิงตัน
ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า "การสกัดค่าเงินแข็งค่าด้วยการเข้าแทรกแซงตลาด โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสเงินนุทุนไหลเข้าเป็นจำนวนมากนั้น อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจระดับมหภาค หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ เศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะฮาร์ดแลนดิ้ง หากกระแสเงินทุนชะลอตัวลง"
ไอเอ็มเอฟเตือนว่า หลายประเทศ อาทิ จีน ซึ่งควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนของตนเองด้วยการเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราอย่างเอาจริงเอาจังนั้น กำลังทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะฮาร์ดแลนดิ้ง หากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปชะลอตัวลงหรือถดถอยลง หรือหากกระแสเงินทุนในระบบเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างฉับพลัน
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย รัตนา พงศ์ทวิช/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--