นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย กล่าวในงานสัมมนา "ปรับสมดุลตลาดแรงงานไทยยุคหลังโควิด -19 สู่ความยั่งยืน"ว่า วิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจเร็วยิ่งขึ้นไปอีก นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยภาคธุรกิจจะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานกันมากขึ้นทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจที่พัฒนาอย่างรวดเร็วกับธุรกิจที่ล้าหลัง ส่งผลให้บางธุรกิจไม่สามารถอยู่ในตลาดแรงงานได้เลย โดยคาดว่ามีแรงงานที่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างราว 25% และจะเพิ่มเป็น 47% ในอีก 10 ปีข้างหน้า
โดยคาดว่า ทั้งประเทศจะมีคนตกงานราว 2 ล้านคน จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจที่ทำให้งานบางประเภทลดขนาดลงหรือหายไป เช่น พนักงานออฟฟิศ เคาน์เตอร์เซอร์วิส ขณะเดียวกันจะเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสาขาที่ตลาดมีความต้องการ เช่น โครงการอีอีซีที่มีความต้องการมีฝีมือถึง 4.75 แสนคนสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 12 สาขา เนื่องการผลิตบุคลากรยังไม่เพียงพอ
"หลังวิกฤตโควิด-19 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รูปแบบของธุรกิจจะเปลี่ยนไปจากเดิม คนรุ่นใหม่จะเป็นสตาร์ทอัพกันมากขึ้นเพราะต้องการอิสระ ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเพราะคนเก็บเงินไว้ไม่ได้นำออกมาใช้นาน" นายปิยะบุตร กล่าว
ปัญหาการว่างงานจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบธุรกิจ ได้แก่ 1.การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานมากขึ้น เช่น ธุรกิจการเงิน ที่มีการให้บริการ e-Banking ที่ช่วยลดการทำธุรกรรมที่ธนาคาร การชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์, ธุรกิจโฮมสเตย์ เป็นต้น 2.พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถจะเข้าสู่การเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้นเนื่องจากต้องการเสรีภาพในการทำงาน 3.ห่วงโซ่ธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และ 4.รูปแบบการดำเนินวิถีชีวิตเปลี่ยนไป จะมีการทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้น ลดการเดินทางโดยเปลี่ยนบ้านเป็นที่ทำงาน
สำหรับข้อเสนอแนะต่อฝ่ายบริหาร 4 ประการ ได้แก่ 1.มาตรการรองรับคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นสตาร์ทอัพมากขึ้น และมาตรการรองรับสังคมผู้สูงวัย 2.มาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เช่น การย้ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมากไปอยู่ตะเข็บชายแดน 3.มาตรการการทางศึกษา โดยเน้นสาขาอาชีวศึกษาให้สามารถปฏิบัติงานได้จริง และ 4.มาตรการสนับสนุนโครงการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership : PPP)