อนุสรณ์ เล็งเศรษฐกิจไทยอาจถดถอยเป็นปีที่ 2 หลังการบริโภค-ลงทุนในปท.ทรุดแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday July 25, 2021 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึง มีความเป็นไปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆที่เศรษฐกิจไทยอาจติดลบถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่สอง แม้นภาคส่งออกฟื้นตัวจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ แต่การทรุดตัวลงของการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วรุนแรง จากการล็อกดาวน์และการขยายล็อกดาวน์รอบใหม่และความไม่สามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ จำนวนการติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังทำสถิติสูงสุดรายวัน มาตรการขยายล็อกดาวน์ 13 จังหวัดไม่ได้ผลเท่าไหร่นักและทำให้ 3 จังหวัดซึ่งเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมส่งออกได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและความทุกข์ยากทางเศรษฐกิจของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานรายวัน ครอบครัวรายได้น้อย และ กิจการขนาดย่อมขนาดเล็ก หากประเทศไทยยังต้องล็อกดาวน์เป็นระยะๆไปเรื่อยอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า เราคงไม่สามารถมีเงินงบประมาณจ่ายชดเชยรายได้ไปเรื่อยๆได้ จำเป็นต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 60% และดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมทุกมิติ โดยเสนอให้พักหนี้ให้กับครัวเรือนรายได้น้อยและกิจการขนาดเล็กจนถึงสิ้นปี ปรับลดอัตราเงินสดสำรองตามกฎหมายของสถาบันการเงิน ผ่อนกฎเกณฑ์การตั้งสำรองหนี้เสียหรือหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ให้กับธนาคาร ลดหย่อนภาษีการขายหรือโอนทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงิน

พร้อมคาดการณ์จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ยุโรปหรือญี่ปุ่น จะทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้จะใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินมากเป็นพิเศษไปอีกอย่างน้อยหนึ่งถึงสองปี ความกังวลเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การเร่งตัวของเงินเฟ้อและเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินบรรเทาลง อัตราดอกเบี้ยจะต่ำไปอีกนาน ฉะนั้นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ย 0% ของไทยลดลง คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยควรนำเอานโยบายดอกเบี้ย 0% มาพิจารณาว่า สมควรใช้นโยบายนี้หรือไม่ในการประชุมที่จะถึงนี้ หากตัดสินใจช้าจะไม่สามารถประคับประคองเศรษฐกิจได้ทันการณ์ และ ดูเหมือนว่า ประเทศคงจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์อยู่เป็นระยะๆ และ มาตรการคลังมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆจากการไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้าหมายและการก่อหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจนใกล้ทะลุเพดานแล้ว

สภาพคล่องที่มีอยู่สูงขณะนี้ไหลเข้าไปลงทุนในตลาดการเงินทำให้ราคาหุ้นปรับตัวเกินปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ โจทย์ใหญ่ของทางการ คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้สภาพคล่องไหลเข้าสู่ภาคการผลิต ภาคเศรษฐกิจจริง (Real Sector) เบื้องต้นองค์กรของรัฐต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นก่อนการลงทุนจึงจะขับเคลื่อนได้

การที่สภาพคล่องล้นเพราะไม่มีใครกล้าลงทุนกล้าใช้จ่ายในเศรษฐกิจจริง ทำให้เงินไหลเข้าตลาดการเงินและดันราคาให้สูงขึ้นโดยไม่มีพื้นฐานที่ดีรองรับมากนักจึงทำให้มีความเปราะบางและผันผวนสูง นอกจากนี้โครงสร้างทางการเงินของกิจการและธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนอ่อนแอมากและถูกซ้ำเติมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีหนี้สินเพิ่มมากกว่า 4 ล้านล้านบาท บริษัทกิจการท่องเที่ยว กิจการสายการบิน กิจการขนส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร กิจการเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องเพิ่มทุนในช่วงครึ่งปีหลังหรือต้องขายทรัพย์สินเสริมสภาพคล่องและชำระหนี้ สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทจดทะเบียนปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 2.83 เท่าเมื่อเทียบกับ 2.57 เท่าในปี พ.ศ. 2561 หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นแตะระดับ 29.28 ล้านล้านบาท สูงกว่าจีดีพีประเทศประมาณเกือบ 2 เท่า และมีแนวโน้มว่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุนและหนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ. 2564 โดยสัดส่วนหนี้สินต่อทุนน่าจะทะลุ 3 เท่าและหนี้สินรวมทะลุ 30 ล้านล้านบาท มากกว่าสองเท่าของจีดีพีประเทศขณะที่ผลกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนลดลงจากระดับ 9.2 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2561 มาอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาทเท่านั้นในปี 2563 และมีสัญญาณดีขึ้นบ้างในไตรมาสแรกปีนี้กำไรสุทธิอยู่ที่ 2.58 แสนล้านบาท และแม้นไตรมาสสองผลกำไรสุทธิยังขยายตัวอยู่ แต่เชื่อว่าไตรมาสามและสี่จะทรุดลงอย่างมากจากการขยายล็อกดาวน์และการติดเชื้อไม่ลดลง

หากในปี พ.ศ. 2565-2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำกว่า 2% มีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤติหนี้สินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยกลุ่มธุรกิจที่จะมีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจสปาและเสริมสวยกลุ่มค้าปลีกขนาดเล็กขนาดกลาง กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม กลุ่มธุรกิจสายการบินและการขนส่งคน กลุ่มธุรกิจสื่อ กลุ่มธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าและงาน Event ต่างๆ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มกิจการโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ฐานะทางการคลังของประเทศอ่อนแอลง โดยมีการก่อหนี้จำนวนมากทำให้ สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 60% ในปีหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีพุ่งทะลุ 90.5% สูงที่สุดในรอบ 18 ปีเป็นผลจากการล็อกดาวน์ไร้ประสิทธิภาพและประสิทธิผล รายได้หดตัว ว่างงาน ส่วนใหญ่เป็นหนี้ผ่อนชำระที่อยู่อาศัยประมาณ 34% ตัวเลขสูงระดับนี้เข้าข่ายวิกฤติหนี้สินครัวเรือนแล้ว และ ตัวเลขหนี้ที่ปรากฏนี้ยังไม่นับรวมการเป็นหนี้นอกการกำกับดูแลของแบงก์ชาติและหนี้นอกระบบ ฉะนั้นตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้งระบบอาจทะลุ 100% แล้ว

เรื่องการเป็นหนี้และไม่สามารถชำระหนี้ได้ขณะนี้ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องการไม่มีวินัยทางการเงินหรือก่อหนี้เกินตัวแต่เป็นเรื่องของการว่างงานและรายได้ลดลงมากกว่า ส่วนการปรับลดเพดานดอกเบี้ยก็อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดนัก เมื่อสถาบันการเงินไม่สามารถคิดดอกเบี้ยได้ตามความเสี่ยง สถาบันการเงินก็จะไม่ปล่อยกู้ เท่ากับผลักให้ผู้มีรายได้น้อยและฐานะการเงินอ่อนแอต้องไปกู้นอกระบบแทน เตือนปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จะรุนแรงขึ้นจากโครงสร้างทางการเงินอ่อนแอของทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจและภาครัฐ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ