กฟผ.เสนอ ครม.อนุมัติแผนลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 4,826 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 30, 2007 09:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้อนุมัติแผนพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กำลังการผลิต 81.7 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 4,826 ล้านบาท(ปี 50-53) โดยจะแบ่งลงทุนในปี 50 จำนวน 883 ล้านบาท, ปี 51 จำนวน 2,360 ล้านบาท, ปี 52 จำนวน 1,373 ล้านบาท และปี 53 จำนวน 210 ล้านบาท
กฟผ.จะก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทาน 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์, เขื่อนขุนด่านปราการชล, เขื่อนเจ้าพระยา, เขื่อนนเรศวร, เขื่อนแควน้อย และเขื่อนแม่กลอง กำลังผลิตรวม 79.7 เมกะวัตต์,
พร้อมทั้งลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากังหันลม กำลังผลิต 2 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิง และลดปัญหาผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม
ส่วนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะเสนอแผนการเร่งรัดจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) รายไตรมาสให้เร็วขึ้น โดยมอบหมายหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสำรวจและจัดส่งข้อมูลแก่ สศช.ภายใน 6 สัปดาห์หลังสิ้นไตรมาสอ้างอิง เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปีปฏิทิน 50 เป็นต้นไป
"สศช.เห็นว่าปัจจุบันหลายหน่วยงานได้ปรับปรุงการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจระยะสั้นรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะของธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่ามี 52% ของผู้ผลิตข้อมูลสามารถรายงานข้อมูลให้ได้ภายในสัปดาห์ที่ 6 อยู่แล้ว และอีก 48% ต้องเร่งรัดเพิ่มเติมโดยวิธีสั่งการจากระดับนโยบาย" แหล่งข่าว กล่าว
ปัจจุบันการประกาศตัวเลขจีดีพีของไทยยังช้ากว่าหลายประเทศ โดยเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน และอันดับ 9 ของเอเชีย รองจากประเทศเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย และมาเลเซีย
ทั้งนี้ สศช.ต้องการลดระยะเวลาเผยแพร่ข้อมูลจากเดิม 9 สัปดาห์เป็น 8 สัปดาห์หลังสิ้นสุดไตรมาสอ้างอิง และปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังได้ไม่เกิน 1 ไตรมาส และลดระยะเวลาการเผยแพร่สถิติรายได้ประชาชาติ รายปีทางด้านการผลิต และการใช้จ่ายจากเดิม 11 เดือน เป็น 10 เดือนหลังสิ้นสุดปีอ้างอิง เพื่อให้ประเทศไทยมีเครื่องชี้วัดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะทำให้เปรียบเทียบกับประเทศอื่นและใช้ประกอบการตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สศช. จะเสนอให้ ครม.มอบหมายให้ สศช.และกรมบัญชีกลาง เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อมูลระดับจังหวัด โดยมีสำนักงานคลังจังหวัดเป็นเจ้าภาพ และให้ต้นสังกัดระดับกระทรวงสั่งการให้หน่วยงานส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ให้ความร่วมมือและปฏิบัติ โดยให้ถือเป็นภารกิจที่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาผลการปฏิบัติราชการประจำปีทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยงาน
"ปัจจุบันการจัดทำจีดีพีจังหวัดยังขาดเจ้าภาพและเป็นเพียงงานเฉพาะกิจ อีกทั้งขาดข้อมูลสนับสนุนจากองค์กรระดับท้องถิ่นที่ดีพอ ซึ่งการปรับปรุงจีดีพีจังหวัดยังทำให้จังหวัดมีข้อมูลถูกต้อง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์วางแผนนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดได้แท้จริง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนนโยบายอยู่ดีมีสุขระดับจังหวัด" แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาอนุมัติให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กู้เงินในประเทศ 23,000 ล้านบาท สำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องจากการดำเนินงานขององค์กร เนื่องจากในปี 51 ธอส.มีแผนปล่อยสินเชื่อ 95,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่อยู่อาศัยภายใต้นโยบายรัฐบาลให้แก่ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ประชาชนที่รายได้น้อย และคนในชุมชนแออัด เช่น โครงการสินเชื่อบ้านมั่นคง, บ้านเอื้ออาทร, ธอส.-กบข., และสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ 4.99%
สินเชื่อที่ ธอส.ให้ประชาชนกู้จะเป็นระยะยาว ผิดกับแหล่งเงินทุนที่มาจากเงินฝากออมทรัพย์และฝากประจำระยะสั้นมากถึง 69.96% ของหนี้สินทั้งหมด ขณะที่การระดมเงินจากเงินฝากและตั๋วสัญญาใช้เงินในอยู่ภาวะการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยที่สูง หากลูกค้าได้ถอนเงินจำนวนมากเมื่อครบกำหนดพร้อมกัน อาจทำให้ ธอส.มีความเสี่ยงจากปัญหาขาดสภาพคล่องได้
ธอส.อาจออกและขายพันธบัตรหรือออกหุ้นกู้, ตราสารหนี้อื่นๆ และกู้ยืม โดยกระทรวงการคลังค้ำเป็นผู้ประกัน รวมถึงพิจารณาเงื่อนไขตามความเหมาะสมตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ
นอกจากนั้น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะเสนอร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูพัฒนาอาชีพเกษตรกรและผู้ยากจน โดยจัดตั้งสำนักงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรและผู้ยากจน ในสังกัดธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง, รวบรวมข้อมูลและศึกษาเพื่อเสนอแนะในการดำเนินงานต่อคณะกรรมการโครงการภาคการเกษตรของประเทศให้เท่าทันต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยค่าใช้จ่ายให้ ธ.ก.ส.ขอจัดสรรจากรัฐบาล
และยังให้หน่วยงานราชการ สถาบันการเงิน เอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงาน เช่น ฝึกอบรม วิชาการการประกอบอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้, แก้ปัญหาหนี้สินด้วยกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ย, ให้การสนับสนุนด้านการเงิน สินเชื่อเพื่อแก้ปัญหาหนี้สิน และฟื้นฟูกลุ่มเป้าหมายให้พึ่งตนเองได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ