กฟผ.มั่นใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ตามแผน แต่ NGO ยันค้านหัวชนฝา

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 16, 2007 17:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายรัตนพงษ์ จงดำเกิง รองผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มั่นใจจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ใน 13 ปีข้างหน้าตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี 2007) หากสามารถชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจและรับรู้ถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามมา
"ในอดีตนั้นประเทศไทยเคยวางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นกัน แต่ไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ดีพอ รัฐบาลจึงไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ ประกอบกับในอดีตมีทางเลือกอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติที่นำมาผลิตไฟฟ้า แต่ถึงวันนี้ก๊าซฯ เริ่มหมดลงจึงจำเป็นต้องใช้นิวเคลียร์ แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อม โดยต้องศึกษาในแง่ความปลอดภัยทุกแง่มุม และในวันนี้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สะอาด ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และมีความปลอดภัย" นายรัตนพงษ์ กล่าว
ตามแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี 2007) กำหนดจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 4,000 เมกะวัตต์ ในอีก 13 ปีข้างหน้า ซึ่งในขณะนี้กระทรวงพลังงานและ กฟผ.อยู่ระหว่างการเตรียมการด้านวิชาการ ด้านบุคลากร ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน ซึ่งในอดีตนั้นประเทศไทยเคยวางแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เช่นกัน แต่ไม่ได้สร้างความเข้าใจที่ดีพอ รัฐบาลจึงไม่กล้าใช้นิวเคลียร์
นายรัตนพงษ์ กล่าวว่า ความชัดเจนเรื่องเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงต้องรออีกใน 7 ปีนับจากนี้ไป และเมื่อประชาชนมีความเข้าใจและยอมรับ การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ใน 13 ปีข้างหน้า
ด้านนายธารา บัวคำศรี ผู้ประสานงานกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า กรีนพีซจะมีการรณรงค์สร้างความเข้าใจเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ โดยจะมีการแจกจ่ายเอกสาร "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่าปิดแผ่นฟ้าด้วยมือ" เพราะเห็นว่าน่าจะมีทางเลือกอื่นๆ ทดแทนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
การอ้างว่าทั่วโลกล้วนมุ่งสู่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเรื่องที่เกินจริง เพราะหากพิจารณาจากประเทศที่กำลังก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พบว่าส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย ในยุโรปก็มีเพียงฟินแลนด์ ขณะที่เดนมาร์ก ออสเตรีย มีจุดยืนที่แน่ชัดไม่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนเยอรมนีมีนโยบายที่จะหยุดเดินเครื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดในอนาคต และที่สำคัญการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจเกิดปัญหางบบานปลายจากเรื่องการสร้างมาตรฐานความปลอดภัย ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ