ครม.เห็นชอบให้ทุกหน่วยเร่งส่งข้อมูลให้ สศช.ประเมิน GDP รายไตรมาส-รายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 30, 2007 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีครม.เห็นชอบการเร่งรัดจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาสและรายปีของประเทศไทย และการปรับปรุงระบบการจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด  ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  เสนอ  
ทั้งนี้ ครม.ให้ สศช. ดำเนินการเร่งรัดการจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาส โดยลดระยะเวลาการเผยแพร่ข้อมูลจากเดิม 9 สัปดาห์ เป็น 8 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดไตรมาสอ้างอิงและปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังได้ไม่เกิน 1 ไตรมาส ยกเว้นกรณีแหล่งข้อมูลในรายการที่สำคัญที่มีการแก้ไขย้อนหลังอย่างมีนัยสำคัญ ก็ให้สามารถแก้ไขให้สอดคล้องกันได้มากกว่า 1 ไตรมาส
และลดระยะเวลาการเผยแพร่สถิติรายได้ประชาชาติรายปีทางด้านการผลิตและด้านการใช้จ่ายจากเดิม 11 เดือนเป็น 10 เดือนหลังสิ้นสุดปีอ้างอิง ทั้งนี้ให้เริ่มตั้งแต่การเผยแพร่ข้อมูลไตรมาสที่ 4 ของปีปฏิทิน พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป
ให้หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการสำรวจ รวบรวม และ จัดส่งข้อมูลให้ สศช. เพื่อการจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรายไตรมาสภายใน 6 สัปดาห์หลังสิ้นไตรมาสอ้างอิง โดยเริ่มจากข้อมูลของไตรมาสที่ 4 ของปีปฏิทิน พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดส่งข้อมูลรายปีให้ สศช. เพื่อการจัดทำรายได้ประชาชาติประจำปีภายใน 6 เดือน นับแต่สิ้นปีปฏิทินอ้างอิง
พร้อมทั้งให้ปรับปรุงกระบวนการจัดทำสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด โดยมอบหมาย สศช. และกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด และให้หน่วยงานต้นสังกัดระดับกระทรวงสั่งการให้หน่วยงานส่วนภูมิภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้ความร่วมมือและร่วมปฏิบัติภารกิจในการจัดทำผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด โดยถือเป็นภารกิจที่สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาผลการปฏิบัติราชการประจำปีได้ทั้งในระดับบุคคลและระดับหน่วยงาน
และให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานของ สศช. ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บข้อมูลรายปี รายไตรมาส และรายจังหวัด ให้มีมาตรฐานและคุณภาพชั้นสูง มีความถูกต้องแม่นยำ มีระบบการเผยแพร่และรายงานที่รวดเร็วขึ้น โดยยึดหลักการของการปรับข้อมูลย้อนหลังให้น้อยที่สุดเพื่อมิให้กระทบต่อผู้ที่ใช้ข้อมูลในลักษณะอนุกรมยาว
นายโชติชัย กล่าวว่า การลดระยะเวลาการเผยแพร่ข้อมูลจะทำให้มีเครื่องชี้วัดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้สามารถเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ และใช้ประกอบการตัดสินใจนโยบายเศรษฐกิจได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะทำให้มาตรฐานระยะเวลาการเผยแพร่ข้อมูลของไทยดีขึ้นในกลุ่มเอเชียและอาเซียน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ