นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนและมีขนาดการลงทุนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป(ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)ต้องดำเนินการให้ได้รับการรับรองระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 หรือ ISO 14000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่า เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.50 เป็นต้นไป
สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนไปแล้ว และมีเงื่อนไขกำหนดให้ต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 9000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าภายใน 2 ปี หากผู้ประกอบการที่ยังไม่ครบกำหนดเวลาให้ดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าวจะเลือกใช้ระบบมาตรฐาน ISO 14000 ก็สามารถยื่นขอแก้ไขตามหลักเกณฑ์นี้ได้ทันที
การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยสามารถเลือกขอใบรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นจากหลักเกณฑ์เดิมที่กำหนดเพียงให้ผู้ประกอบการที่ลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป ต้องได้รับมาตรฐาน ISO 9000 หรือมาตรฐานสากลอื่นที่เทียบเท่าภายใน 2 ปีนับแต่เปิดดำเนินการ หากไม่สามารถดำเนินการได้จะถูกเพิกถอนสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 1 ปี
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 9000 ทั่วประเทศ จำนวน 7,177 ราย และบริษัทที่ได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 14000 ทั่วประเทศ จำนวน 1,412 ราย
ISO 14000 เป็นระบบที่มุ่งตรวจระบบการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม วิธีปฎิบัติการป้องกันและตรวจกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องว่าปฎิบัติตามได้สอดคล้องหรือไม่ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน การกำจัดของเสียได้ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน
ขณะเดียวกันยังสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าในและต่างประเทศที่ส่งไปขายตลาดสหภาพยุโรป(EU)จะไม่โดนกีดกันตามมาตรการ NTBs (Non tariff Barriers) ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
--อินโฟเควสท์ โดย อตฦ/กษมาพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--