นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน มิ.ย.64 อยู่ที่ระดับ 97.73 ขยายตัว 17.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน เนื่องจากยังอยู่ในช่วงได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ จากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) ขยายตัวสูงถึง 45.23%
ด้านการผลิตรถยนต์ยังคงขยายตัวสูงจากฐานต่ำปีที่แล้วที่มีการล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกช่วงต้นปี 63
ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรกปี 64 (ม.ค.-มิ.ย.) ดัชนี MPI ขยายตัวเฉลี่ย 9.41% และคาดว่าดัชนี MPI ทั้งปีจะขยายตัว 4-5%
ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เดือน มิ.ย.64 อยู่ที่ 63.92% และช่วง 6 เดือนแรกอยู่ที่ 65.32%
"การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการของภาครัฐในแต่ละประเทศ รวมถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในหลายประเทศ ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำและยุทโธปกรณ์) ขยายตัวสูงถึง 45.23% ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญจะยังเติบโตต่อเนื่อง ตามภาคการส่งออกซึ่งถือเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศในช่วงเวลานี้" นายทองชัย กล่าว
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งปีแรกปี 64 ขยายตัวเกือบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตของอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์มีการผลิตเพิ่มขึ้น 39.87% โดยเป็นการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นในรถทุกประเภทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนตามคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางล้อขยายตัวตามไปด้วย
อุตสาหกรรมเหล็กขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้น 23.80% การผลิตชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ มีการผลิตเพิ่มขึ้น 15.65% ตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากการเรียนและการทำงานออนไลน์ และอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยางที่เติบโตตามความต้องการใช้งานทางการแพทย์สูงขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 อีกทั้งในเดือน มิ.ย.64 อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ซึ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยเริ่มกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 178.89% สะท้อนให้เห็นภาพของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศการเร่งกระจายการฉีดวัคซีน และแผนการเปิดประเทศในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้การคาดการณ์ MPI ในเดือนถัดไปจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องติดตามและให้ความสำคัญ อาทิเช่น การระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาการขาดแคลนชิปในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปัญหาต้นทุนค่าระวางการขนส่งสินค้าทางเรือตู้ คอนเทนเนอร์สูงขึ้นที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตในอนาคต
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่มีดัชนีผลผลิตที่ส่งผลบวกขยายตัวในเดือน มิ.ย.64 ได้แก่
- ยานยนต์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 90.06% จากการผลิตเกือบทุกรายการสินค้า ประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม ญี่ปุ่น เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทำให้การส่งออกเพิ่มขึ้น 82.14% ส่วนตลาดในประเทศยังขยายตัวได้แม้จะมีการระบาดระลอก 3
- ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.32% ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โลกที่ขยายตัว และความต้องการสินค้าเพื่อการทำงานแบบ work from home มากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มของการพัฒนาสินค้าเทคโนโลยีเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในหลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น
- เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.93% จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กรูปพรรณรีดร้อน และเหล็กเส้นข้ออ้อย เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลอดจนการเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
- เครื่องประดับเพชรพลอยและโลหะมีค่า เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 178.89% เนื่องจากปีก่อนเป็นช่วงเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ยอดการผลิตและจำหน่ายยังอยู่ในระดับต่ำ ต่างจากปีนี้ที่การผลิตเป็นไปตามปกติ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายออนไลน์ทำให้การจำหน่ายเติบโตได้มากขึ้น
- ยางรถยนต์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 78.19% จากยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร และยางนอกรถกระบะ ขยายตัวได้ตามยอดการผลิตรถยนต์ที่เติบโตได้ดีขึ้น รวมถึงมีการลดราคาและทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งในปีก่อนได้รับผลจากการแพร่ระบาดและมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ความต้องการสินค้าหดตัว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเดือน ก.ค.64 คาดว่าการขยายตัวของดัชนีฯ จะยังได้รับอานิสงส์ต่อเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่แนวโน้มจะทยอยลดลงตามลำดับ ขณะที่การประกาศล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 13 จังหวัด อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ส่วนการพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการต้องติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยมาตรการ "Online-Onsite-Upgrade-Vaccine"
ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า การคาดการณ์ดัชนี MPI ทั้งปีจะขยายตัวที่ระดับ 4-5% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรมทั้งปี จะขยายตัวที่ระดับ 3-4% ได้คำนวณผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ไว้แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมมีการขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ด้วยหลักการ "Online-Onsite-Upgrade-Vaccine" คือ
1.Online ให้โรงงานประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ไทย สต๊อป โควิด-19 พลัส และไทยเซฟไทย
2.Onsite จัดทีมแนะนำและติดตามการประเมินตนเอง โดยให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมกันจัดทีมสุ่มตรวจประเมินโรงงานในพื้นที่ในโรงงาน
3.Upgrade จัดทำมาตรการฟื้นฟูสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 หลังจากโรงงานประเมินตนเอง เพื่ออัพเกรดสถานประกอบการให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน
4.Vaccine เร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในโรงงาน รวมทั้งผลักดันการเป็นศูนย์ให้บริการฉีดวัคซีนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานขนาดใหญ่ที่มีคนงานมากกว่า 2,000 คน เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในภาคแรงงาน และจะสามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถเดินหน้าการผลิตต่อไปได้
"กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันจัดทำมาตรการรองรับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศ ทำให้เกิดผลกระทบบ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ยกเว้นจะมีมาตรการล็อคดาวน์เพิ่มเติม ขณะที่การค้าชายแดนก็กลับมาขยายตัวได้ดี" นายทองชัย กล่าว