นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน ยืนยันจะไม่เข้าแทรกแซงราคาน้ำมันในประเทศที่กำลังปรับตัวขึ้นสูงตามราคาตลาดโลก เพราะไม่ต้องการดำเนินการใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีภาระหนี้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่รัฐบาลตั้งเป้าจะล้างหนี้ที่ค้างชำระให้หมดไปภายในสิ้นปีนี้
"การบริหารจัดการโดยไม่เข้าไปแทรกแซงน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะเงินที่นำไปแทรกแซงมาจากผู้ใช้น้ำมัน ถ้าแทรกแซงวันนี้อีกวันก็ต้องใช้หนี้อยู่ดี"นายปิยสวัสดิ์ กล่าวทางรายการวิทยุเช้านี้
ก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการเรียกร้องให้รัฐบาลยืดเวลาการชำระหนี้กองทุนน้ำมันออกไป 2-3 เดือน โดยลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน เพราะถึงแม้รัฐบาลจะชี้แจงว่าต้นทุนราคาน้ำมันจะต่ำกว่าปีก่อน แต่สถานการณ์เศรษฐกิจในขณะนี้ก็ยังตกต่ำอยู่
"คิดว่ามีทางเลือกให้แล้ว ถ้าดีเซลแพงขอให้ไปใช้ไบโอดีเซล ถ้าเบนซินแพงไปใช้แก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีทั่วประเทศแล้ว" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ปัจจุบันผู้บริโภคมีพลังงานทางเลือกหลายอย่างทั้งแก๊สโซฮอล์ ไบโอดีเซล และเอ็นจีวี ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางในการบรรเทาปัญหาราคาน้ำมันแพงได้ แต่ขณะนี้ยังมีปริมาณการใช้ไม่มากเท่าที่ควร
รมว.พลังงาน กล่าวว่า หากพิจารณาต้นทุนราคาน้ำมันในรูปของดอลลาร์สหรัฐจะไม่ใช่สถานการณ์ที่แท้จริง เพราะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากในอดีตช่วยลดผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง ขณะที่ราคาน้ำมันตลาดโลกในปัจจุบันจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ 87-88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
"ถ้าอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์เท่ากับปีที่แล้ว ก็เท่ากับราคาอยู่ที่ 76-77 ดอลลาร์(ต่อบาร์เรล)เท่านั้น สิ่งที่เราเห็นไม่ใช่ราคาที่เราซื้อจริง ต้องดูต้นทุนที่เป็นบาทที่ได้รับการช่วยเหลือจากอัตราแลกเปลี่ยนที่บาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ช่วยให้ถูกไปได้ 3 บาทต่อลิตร" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
โดยจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 อยู่ที่ลิตร 30.39 บาท ยังต่ำกว่าระดับราคาสูงสุดเมื่อปีที่แล้วที่ลิตรละ 30.59 บาท ส่วนน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 27.34 บาท แต่ปีที่แล้วอยู่ที่ลิตรละ 27.94 บาท และหากดูราคาเฉลี่ยทั้งปี ปีที่แล้วอยู่ที่ลิตรละ 25.62 บาท แต่ช่วง 9 เดือนแรก(ม.ค.-ก.ย.)ของปีนี้อยู่ที่ลิตรละ 24.73 บาท
รมว.พลังงาน ยังเชื่อว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่น่าจะปรับตัวขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากพิจารณาถึงปัจจัยในเรื่องกำลังการผลิตและความต้องการใช้ ยกเว้นจะมีเหตุการณ์ผิดปกติ เช่น เกิดสงครามในตะวันออกกลาง แต่เรื่องของราคาจะไปดูแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้ต้องดูราคาเฉลี่ยทั้งปี โดยเมื่อช่วงต้นปีราคาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อเฉลี่ยทั้ง 9 เดือนแล้วจะอยู่ที่ 67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
"หากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไปถึง 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้ลดลง มีการพัฒนาพลังงานทดแทนขึ้นมา ผมคิดว่าราคา 100 (ดอลลาร์)คงอยู่ไม่นาน" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย ธนวัฏ เสือแย้ม/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--