นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เปิดเผยถึงภาพรวมโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมใน พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท โดยมีวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาทว่า ขณะนี้มีงบประมาณเหลืออยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท
โดยมีการอนุมัติโครงการไปแล้วประมาณ 200-300 โครงการใน 2 ลักษณะ ประกอบด้วย
ลักษณะแรก เป็นการจ้างงานตรง อนุมัติไปตั้งแต่ช่วงประมาณปลายปี 2563 และเริ่มมีการจ้างงานตรงไปที่นักศึกษาจบใหม่ หรือคนที่ว่างงานและกลับไปอยู่ในที่พื้นที่ เป็นการจ้างงานแบบกระจายไปในหลายพื้นที่ ผ่านหลาย
ลักษณะที่สอง เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพในพื้นที่ เป็นโครงการระยะยาวที่ให้กับเกษตรกร ให้มีความมั่นคงในด้านอาชีพ มีปัจจัยในการผลิตที่เพียงพอในการนำไปใช้ในการผลิตด้านการเกษตร
ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งที่อยู่นอกเหนือแผนฟื้นฟูเป็นเรื่องของการกระตุ้นการบริโภคโดยตรง เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจในภาพใหญ่ค่อนข้างมาก
"เห็นได้ชัดในการจ้างงาน เท่าที่ดูตัวเลขการจ้างงานขณะนี้อยู่ที่ 3-4 แสนราย ทำให้อย่างน้อยคนมีรายได้และมีการใช้จ่าย สำหรับผลกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมนั้นในแง่ของการบริโภคสามารถช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชน"
นายดนุชา กล่าวว่า ในภาพรวมของผลการดำเนินงานเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง เพราะมีความก้าวหน้า มีการจ้างงานมากขึ้น กลุ่มเกษตรกรเริ่มเข้าใจว่าการเกษตรไม่จำเป็นต้องทำมากแต่ต้องทำให้มีคุณภาพ โดยเริ่มจากเล็ก ๆ แล้วค่อยขยายออกไป ซึ่งในระยะยาวจะเป็นผลดีต่อความมั่นคงในด้านอาชีพการเกษตร
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในระยะต่อไป รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทแล้ว สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจประมาณ 170,000 ล้านบาท
ในระยะถัดไปสภาพัฒน์กำลังหารือร่วมกับหน่วยงานเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าจะเริ่มดำเนินโครงการที่จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบอยู่ในลักษณะอย่างไร
"รัฐบาล จะต้องดูแลอย่างจริงจัง ในภาค SMEs ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก แม้ได้มาตรการที่เน้นช่วยเหลือประชาชนโดยตรง ในขณะที่ผู้ประกอบการยังไม่ได้รับการช่วยเหลือมากนัก"