ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นหุ้นส่วนพัฒนาอนุภูมิภาค

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 3, 2021 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครม.เห็นชอบร่างถ้อยแถลงกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นหุ้นส่วนพัฒนาอนุภูมิภาค

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างถ้อยแถลงร่วมกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ โดยร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ฉบับนี้ จะมีการรับรองในการประชุมรัฐมนตรีกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประธาน มีสาระสำคัญดังนี้

1.การย้ำความสำคัญกับหลักการของความร่วมมือ อาทิ ความเปิดกว้าง ธรรมาภิบาล ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน พหุภาคีนิยม ความเท่าเทียม ความเคารพ ความไว้เนื้อเชื่อใจ และผลประโยชน์ร่วมกัน

2.การส่งเสริมระหว่างกันของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคฯ เช่น หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ/กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Cha Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) คณะกรรมาธิการแม่โขงและอาเซียน (MRC) และอาเซียน

3.ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาดิจิทัล และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

4.ประเด็นและกิจกรรมที่สมาชิกกลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ให้ความสำคัญซึ่งรวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและการรับมือกับความท้าทายข้ามพรมแดน

5.การสนับสนุนบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงและความร่วมมือข้ามพรมแดน

"การดำเนินการตามถ้อยแถลงร่วมฯ นี้ สอดคล้องกับนโยบายการต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย ในการส่งเสริมและกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค และการลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เชื่อมโยงในทุกมิติทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม" น.ส.รัชดา กล่าว

อนึ่ง กลุ่มมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Friends of the Mekong : FOM) เป็นกลไกความร่วมมือภายใต้หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong - U.S. Partnership : MUSP) (สมาชิก MUSP ประกอบด้วยไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม สหรัฐ) ซึ่งรวมตัวกับอีก 8 ประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลี สหภาพยุโรป (EU) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก (World Bank) สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRCS) และอยู่ในกระบวนการเชิญอินเดียเข้าร่วมด้วย โดยเป็นการรวมตัวของประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ