ภาวะตลาดเงินบาท: ระหว่างวันแตะ 33.03 อ่อนค่ารอบ 16 เดือน สวนทางภูมิภาคจากสถานการณ์โควิดกดดัน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 3, 2021 17:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นนี้อยู่ที่ 33.02 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากเปิด ตลาดเมื่อเช้าอยู่ที่ระดับ 32.95 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันจากความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใน ประเทศเป็นหลัก โดยวันนี้ทิศทางบาทสวนทางกับภูมิภาค ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 32.94 - 33.03 บาท/ดอลลาร์ และไป แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 16 เดือนที่ 33.03 บาท/ดอลลาร์

"วันนี้ดอลลาร์ค่อนข้างอ่อนค่าส่งผลให้สกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคแข็งค่าตามดอลลาร์ ยกเว้นเงินบาทที่สวนทางกับภูมิภาคจาก ความกังวลเรื่องโควิด" นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันพรุ่งนี้ที่ 32.90 - 33.10 บาท/ดอลลาร์

ปัจจัยที่ต้องติดตามวันพรุ่งนี้ ได้แก่ ในประเทศรอดูการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ส่วนต่างประเทศรอดู ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ค.ของสหรัฐฯ

  • ปัจจัยสำคัญ
  • เงินเยนอยู่ที่ 109.19 เยน/ดอลลาร์ จากเมื่อเช้าที่ระดับ 109.29 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ 1.1881 ดอลลาร์/ยูโร จากเมื่อเช้าที่ระดับ 1.1870 ดอลลาร์/ยูโร
  • ดัชนี SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,540.51 จุด เพิ่มขึ้น 15.40 จุด, +1.01% มูลค่าการซื้อขาย 69,692.10 ล้านบาท
  • สรุปปริมาณการซื้อขายรายกลุ่ม ต่างชาติซื้อสุทธิ 538.47 ล้านบาท (SET+MAI)
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้เห็นชอบขยายขอบเขตมาตรการบรรเทาผลกระทบและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงาน
และผู้ประกอบการในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 พร้อมขยายกรอบวงเงินการให้ความช่วยเหลือเพิ่ม
เป็น 60,000 ล้านบาท จากเดิม 30,000 ล้านบาท
  • ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท.คงคาดการณ์การส่งออกไทย
ในปี 64 เติบโต 10% ซึ่งหากจะให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องมียอดส่งออกให้ได้มากกว่าเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่
หากควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในภาคการผลิตไม่ได้จนเกิดผลกระทบรุนแรง จะทำให้การส่งออกขยายตัวลดลงเหลือเพียง 7%
  • ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/64 อ่อนแอลงจากไตรมาสแรก ผลกระทบ
จากการแพร่ระบาดระลอกสามของโควิด-19 ที่เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.64 โดยวิจัยกรุงศรีคาดว่า GDP ในไตรมาส 2/64 อาจหดตัว
จากไตรมาสแรกที่ -0.6% QoQ sa แต่หากเทียบกับไตรมาส 2/63 อาจขยายตัวได้ 7% YoY ซึ่งเป็นผลของฐานที่ติดลบหนักเป็นสำคัญ
  • ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index)
ผลสำรวจในเดือนก.ค. 64 พบว่า ดัชนีฯในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 64.37 ปรับตัวลดลง 39.3% จากเกณฑ์ทรงตัวเดือนก่อนมา
อยู่ในเกณฑ์ซบเซา โดยนักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัว
ของเศรษฐกิจในประเทศและนโยบายภาครัฐ
  • ภาคเอกชนประเมินผลกระทบจากการขยายระยะเวลามาตรการล็อกดาวน์และเพิ่มพื้นที่เป็น 29 จังหวัด จะสร้างความสูญ
เสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยราว 3-4 แสนล้านบาท/เดือน เนื่องจากในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวมีโรงงานอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างราย
ได้ต่อภาคเศรษฐกิจ แต่หวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาว
  • คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีมติอนุมัติการจัดสรรเงินจำนวน 6.50 แสนล้าน
ดอลลาร์จากกองทุนสิทธิพิเศษถอนเงิน (SDR) ของ IMF ซึ่งเป็นการจัดสรรเงินจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์ของ IMF โดยมีเป้าหมายที่
จะกระตุ้นสภาพคล่องทั่วโลกในช่วงเวลาที่ไวรัสโควิด-19 ยังคงแพร่ระบาด
  • สมาคมทองคำจีน (CGA) รายงานในวันนี้ว่า ปริมาณการใช้ทองคำของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้น 69.21%
เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 547.05 ตัน โดยความต้องการทองคำของจีนไม่เพียงแต่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ยังสูงกว่า
ระดับก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ