น.ส.ฐิติมา ชูเชิด เศรษฐกิจกรอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรเร่งปฎิรูปโครงสร้างภาษีให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงขยายฐานการจัดเก็บภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากมีแนวโน้มเกิดความเสี่ยงด้านโครงสร้างทางการคลังที่มีรายได้และรายจ่ายไม่สมดุลกันตั้งแต่ปี 2552 สืบเนื่องมาจากภารพทั้งในและนอกประมาณที่เพิ่มขึ้น
จากผลการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไปภาครัฐจะมีภาระการคลังทั้งในและนอกงบประมาณเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 633,520 ล้านบาท หรือแยกเป็น 547,540 ล้านบาท และ 58,980 ล้านบาทตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ภาระอาจเพิ่มเติมมากกว่านี้ หากรัฐบาลใหม่ยังดำเนินนโยบายประชานิยมที่สร้างความเสี่ยงให้รัฐอีก ประกอบกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ปี 2550 ซึ่งเน้นสวัสดิการสังคมให้กว้างและมากขึ้น ยิ่งผลักดันภาระการคลังเพิ่มขึ้น
“ภาระเพิ่มเติมนอกงบประมาณ ส่วนใหญ่มาจากนโยบายประชานิยม เช่น บ้านเอื้ออาทร ปัญหาหนี้เสียของเอสเอ็มอีแบงก์ที่เร่งขึ้น 40-50% และการอุดหนุนการขาดทุนของขสมก. รวมถึงการเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเข้าสู่มาตรการ IAS 39 ซึ่งส่วนหนึ่งรัฐบาลได้พักภาระส่วนหนึ่งไปยังปีงบประมาณปี 52 แล้ว กว่า 131,916 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 7% เนื่องจากกฎหมายงบประมาณปี 51 ได้ออกใช้แล้ว" น.ส.ฐิติมา กล่าว ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2550 ของ ธปท.หัวข้อ "การประเมินความเปราะบางทางการคลังของไทย: ความเสี่ยงและนัยต่อการดำเนินนโยบายในอนาคต"
ด้านนายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้บริหารส่วน ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. ระบุว่า ทางการสามารถขยายช่องทางภาษีได้อีกมากโดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 16% ต่อจีดีพี เนื่องจากปัจจุบันรายได้ของรัฐบาลขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องทุกปี ขณะที่ประเทศอุตสาหกรรมอยู่ที่ 32% ต่อจีดีพี และหากเทียบประเทศในภูมิภาคเอเชียสัดส่วนการเก็บภาษีของไทยยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 2%
ขณะเดียวกันยังพึ่งพารายได้จากการเก็บภาษีนิติบุคคลในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้มีรายได้ไม่คงที่ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ
--อินโฟเควสท์ โดย ธปฦ/รัชดา/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--