นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ใประเทศรุนแรงมากขึ้นอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก อีกไม่นานคงเห็นตัวเลขผู้เสียชีวิตวันละ 200 รายขึ้นไป ขณะนี้มีความจำเป็นในเรื่องการจัดหาวัคซีนเข้าใช้งานให้มากที่สุดอย่างเร่งด่วน โดยภาครัฐต้องแก้ไขกลไกและกฎระเบียบที่เปิดความกว้างให้เอกชนเข้ามาช่วยเหลือเหมือนกรณีการจัดหาชุมตรวจ ATK โดยคอยกำกับดูแลความถูกต้อง และควรพิจารณาแนวทางช่วยเหลือค่าใช้จ่ายให้กับภาคเอกชน เช่น ค่าวัคซีน เฉลี่ยคนละ 2,000 บาท ซึ่งเกิดคุ้มค่าในการใช้งบประมาณมากกว่าการเยียวยา หรือใช้ดูแลรักษา การปรับระบบการจ่ายยาที่รวดเร็ว
"สถานการณ์กำลังย่ำแย่ ต้องไม่ให้รุนแรงไปกว่านี้ เศรษฐกิจของเราน่าจะเติบโตต่ำสุดในอาเซียน ที่บอกว่าจะมีวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อจะฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ทุกวันนี้ยังติดลบ เราจะติดลบอย่างนี้ทุกวันไม่ได้" นายสุพันธุ์ กล่าว
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด หากยังไม่มีการแก้ไขปัญหาให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งจะเห็นตัวอย่างจากประเทศมาเลเซียมาแล้วที่ระบบเศรษฐกิจเสียหาย
"เราไม่มีทางเลือก เศรษฐกิจจะพังไม่ได้เด็ดขาด เอกชนพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ขอให้รัฐบาลตัดสินใจเร็วที่สุด หอการค้าฯ ไม่เห็นด้วยที่จะมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบแล้วไม่ระบบรองรับ เพราะจไม่ช่วยอะไร ระบบสาธารณสุขจะล่ม เศรษฐกิจของประเทศจะเสียหายเหมือนมาเลเซีย อันนี้อันตรายมาก" นายสนั่น กล่าว
รัฐบาลควรมีความพร้อมในการสานต่อเพื่อแก้ไขปัญหาหากล็อกดาวน์ เช่น ร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดสถานที่รับผู้ป่วยสีเขียว โดยใช้สถานที่ที่เคยทำเป็นที่กักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และจัดอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการและพนักงานไปในตัว เพราะในความจริงผู้ติดเชื้อทุกรายคงไม่สามารถทำตามมาตรการ Home Isolation และ Company Isolation ได้ นอกจากนี้ยังช่วยแบ่งเบาภาระของระบบสาธารณสุขที่อ่อนล้า
ขณะที่นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มีข้อเสนอต่อภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชน เนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในขณะนี้ และเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ดังนี้
1.ให้ขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 1 ปี ของการจัดเก็บภาษีปีภาษี 2565 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.65 จนถึงวันที่ 31ธ.ค.65
2.ให้เพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จาก 40% เป็น 60% ขึ้นไป เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากขึ้น
3.ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นเวลา 3 ปี โดยจะต้องทำบัญชีเดียวและยื่นภาษีผ่านระบบ E-Tax
4.รัฐบาลควรมีคำสั่งเดียว (Single Command) ในการสั่งการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19
5.ให้ภาครัฐอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องผ่านผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายและหน่วยงานรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ โดยภาครัฐเป็นผู้ออกใบสั่งซื้อและออกค่าใช้จ่าย
6.ให้ อย.เร่งอนุมัติวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ โดยไม่ต้องรอบริษัทวัคซีนนำเอกสารมายื่น เพื่อเพิ่มทางเลือกและเปิดโอกาสในการจัดหาวัคซีนมากยิ่งขึ้น
7.ให้ภาครัฐสนับสนุนการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับภาคเอกชนที่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) และค่าวัคซีนป้องกันโควิด-19
8.ให้เอกชนช่วยดำเนินการสนับสนุนการผลิตและจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ที่กำลังมีความต้องการสูง