นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 ลดลงเหลือเติบโต 0.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 1.8% และในปี 65 จะเติบโตเพิ่มเป็นราว 3.7% จากเดิมคาดไว้ที่ 3.9%
เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศล่าช้า ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนคือมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติม แนวโน้มการส่งออกสินค้าดีกว่าคาดก็ตาม
กนง.มองว่าสถานการณ์โควิดรอบใหม่จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั้งในปีนี้และต่อเนื่องถึงในปีหน้า จึงควรจะต้องเตรียมรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์โควิด-19 พัฒนาการด้านวัคซีนทั้งประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีน รวมถึงนโยบายการควบคุมโรคและนโยบายการเปิดรับนักทอ่งเที่ยวต่างขาติ
รวมทั้ง สถานการณ์การแพร่ระบาดในต่างประเทศ โดยเฉพาะจากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส, ปัญหา supply disruption ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้า, ความต่อเนื่องของแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐทั้งมาตรการทางการคลังและมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ภาคธุรกิจ
"ดังนั้นนโยบายสาธารณะ จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับต่อความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น โจทย์สำคัญของเศรษฐกิจไทย คือ ต้องคุมการแพร่ระบาดให้ได้ มาตรการการเงินการคลัง ต้องช่วยประคองไม่ให้เศรษฐกิจทรุด และช่วยให้เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นวิกฤติไปให้ได้" นายทิตนันทิ์ กล่าว
นายทิตนันทิ์ กล่าวว่า การทบทวนตัวเลข GDP ในการประชุม กนง.ครั้งนี้ เป็นการทบทวนเพิ่มเป็นพิเศษจากรอบปกติ โดยปรับลดลงตามการบริโภคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและอาชีพอิสระ โดยเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ กนง.ได้ติดตามสถานการณ์การจ้างงานอย่างใกล้ชิด โดยพบว่าจากมาตรการล็อกดาวน์ 29 จังหวัด มีสัดส่วน 78% ของจีดีพี และ 43% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่งผลให้ตลาดแรงงานแย่ไปอีกจากการระบาดที่ยังยืดเยื้อ นับเป็นปัญหาว่างงานวิกฤตกว่าในอดีต โดยขณะนี้มีผู้เสมือนว่างงาน 2.8 ล้านคน ว่างงานระยะยาว 2 แสนคน และแรงงานย้ายถิ่นเพิ่มขึ้น 1.6 ล้านคน
อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับมาได้ในช่วงต้นไตรมาส 4/64 ลดการกักตัวนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 0 วัน ในไตรมาส 2/65 คาดว่าจะมีนักท่องเทึ่ยวในปีนี้ ที่ 1.5 แสนคน และกลับมาที่ 6 ล้านคนในปี 65 แต่หากคุมการแพร่ระบาดได้ช่วงปลายไตรมาส 4/64 ลดการกักตัวช่วงไตรมาส 3/65 ก็จะส่งผลให้ปีนี้ เหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 แสนคน ส่วนปี 65 อยู่ที่ 2 ล้านคน